xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ประเมิน 3 มาตรการอัดฉีดของรัฐ ช่วยดันจีดีพีเพิ่ม 1.7%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจประเมินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐบาล ทั้งเราชนะ คนละครึ่ง เรารักกัน จะช่วยดันจีดีพีปี 64 เพิ่มขึ้นอีก 1.7% หรือทั้งปีโต 2.8-3.4% หลังมีเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจกว่า 3 แสนล้านบาท แถมช่วยรักษาการจ้างงาน คนไม่ตกงานเพิ่ม ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ม.ค. 64 ลดลงทุกรายการ ต่ำสุดในรอบ 9 เดือน หลังคนกังวลโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ เศรษฐกิจหดตัว

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ศูนย์ฯ ได้ประเมินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ทั้งโครงการคนละครึ่ง เราชนะ และเรารักกัน พบว่าเม็ดเงินจากโครงการเราชนะ 210,000 ล้านบาทจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพิ่มขึ้น 1.2% โครงการคนละครึ่ง 53,000 ล้านบาท กระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 0.3% และโครงการเรารักกัน 40,000 ล้านบาท กระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 0.2% หรือทั้ง 3 มาตรการ รวมเม็ดเงิน 300,000 ล้านบาท มีผลกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นได้ 1.7% และยังมีความหวังในเรื่องการกระจายวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ซึ่งจะส่งผลให้เริ่มมีนักท่องเที่ยวเข้ามาไทยในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ได้อีกราว 4-6 ล้านคน

ทั้งนี้ มาตการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐยังส่งผลให้ไม่มีการปลดคนงาน โดยสามารถรักษาการจ้างงานในระบบไว้ได้ 650,000-950,000 คน ช่วยให้มีแรงงานกลับเข้ามาในกลุ่มธุรกิจค้าขาย ขนส่ง และกลุ่มอาหาร อัตราการว่างงานไม่เกิน 2% และมีโอกาสกลับลงมาอยู่ที่ระดับ 1-1.5% ได้ อีกทั้งยังช่วยในการลดหนี้สาธารณะลง โดยคาดว่าปีนี้หนี้สาธารณะจะไม่ขึ้นไปแตะระดับ 90% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) อาจจะอยู่ที่ระดับ 84-85% ต่อจีดีพี

“เศรษฐกิจไทยปีนี้มีโอกาสโตได้ 2.8% แต่หากมีการกระตุ้นจากโครงการต่างๆ อย่างเต็มรูปแบบก็อาจจะช่วยดันให้เติบโตได้ถึง 3.4% แต่ต้องขึ้นกับปัจจัยการเมือง ค่าเงินบาท และการกระจายวัคซีน ตอนนี้เราจึงยังไม่ปรับประมาณการเศรษฐกิจ ขอรอดูสถานการณ์อีกที อาจจะมีการทบทวนอีกครั้งในเดือนมี.ค.” นายธนวรรธน์กล่าว

นายธนวรรธน์กล่าวถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทุกรายการปรับตัวลดลง โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ม.ค. 2564 อยู่ที่ระดับ 47.8 ลดจาก 50.1 ในเดือน ธ.ค. 2563 ต่ำสุดในรอบ 9 เดือน นับตั้งแต่เดือน พ.ค. 2563 เนื่องจากความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ในประเทศ ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 41.6 ลดจาก 43.5 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำอยู่ที่ 45.1 ลดจาก 47.5 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 56.8 ลดจาก 59.2

ปัจจัยที่มีผลทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นลดลง ได้แก่ ความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ที่เป็นวงกว้างและรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 เหลือขยายตัว 2.8% จากเดิมที่คาด 4.5%, ระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น, เงินบาทปรับแข็งค่าขึ้น และผู้บริโภคกังวลว่าเศรษฐกิจชะลอตัวลง

อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะเห็นภาพการฟื้นตัวของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ก.พ. หรือเดือน มี.ค. แต่ต้องขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลัก ทั้งการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19, ประสิทธิผลของมาตรการกระตุ้นต่างๆ ของรัฐบาลว่าจะมีผลพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้มากน้อยเพียงใด ทั้งโครงการเราชนะ, คนละครึ่ง และเรารักกัน แต่คาดว่าผู้บริโภคยังคงชะลอการใช้จ่ายอย่างมากตลอดทั้งไตรมาส 1 ปีนี้ ไปจนถึงต้นไตรมาส 2 จนกว่าโควิด-19 ในประเทศจะคลายตัวลง และยังมีปัจจัยสถานการณ์ทางการเมืองของไทยจะดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไร หลังจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่จะมีขึ้นในกลางเดือน ก.พ.นี้ ซึ่งปัจจัยทั้ง 3 ล้วนมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคตเป็นอย่างมาก


กำลังโหลดความคิดเห็น