xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ทบทวนจีดีพีปี 64 หลังพบการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ธปท.เตรียมทบทวนประมาณการจีดีพีปี 2564 หลังพบโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ เดิมประเมินไว้ 3.2% ระบุเศรษฐกิจไตรมาสที่ 4 ปี 2563 มีการทยอยฟื้นตัวต่อเนื่องตามการใช้จ่ายภายในประเทศ คงประมาณการจีดีพีทั้งปี ติดลบ 6.6% ส่วนเดือน ธ.ค. เศรษฐกิจคงทยอยฟื้นตัวได้แต่ยังไม่ทั่วถึง รวมทั้งมีผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกใหม่ช่วงปลายเดือน ต้องติดตามใกล้ชิด

น.ส.พรเพ็ญ สดศรีชัย ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจมหาภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนธันวาคม 2563 ยังทยอยฟื้นตัว เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในภาพรวมยังทยอยฟื้นตัวได้ แต่การฟื้นตัวยังไม่ทั่วถึง และเริ่มเห็นผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในช่วงปลายเดือนต่อกิจกรรมเศรษฐกิจบางภาคส่วน ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดถึงผลกระทบ และมาตรการต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนได้ดำเนินการระยะหนึ่ง

โดย ธปท.ได้ติดตามสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ รวมถึงผลของมาตรการเพื่อนำมาทวบทวนและพิจารณาประกอบการประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจต่อไป จากการประมาณการช่วงที่ผ่านมา จีดีพีทั้งปี 2563 ติดลบ 6.6% ใกล้เคียงกับ สศค.ประมาณการไว้ที่ -6.5 % และในปี 2564 ธปท.ได้ประมาณการจีดีพีไว้ที่ 3.2% ซึ่งเป็นการประเมินก่อนช่วงเกิดโควิด-19. ระลอกใหม่ ดังนั้นอาจจะต้องขอดูผลกระทบและทบทวนตัวเลขทางเศรษฐกิจอีกระยะหนึ่งเพื่อประมาณการเศรษฐกิจปี 64 อีกครั้งหนึ่ง

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจเดือนธันวาคม โดยรวมเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนแม้ยังขยายตัว แต่การระบาดระลอกใหม่เริ่มส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการเดินทางและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ด้านการส่งออกสินค้ากลับมาขยายตัวได้ตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ดีขึ้น เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวสูงขึ้นตามการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์

สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐยังขยายตัวตามรายจ่ายลงทุน อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวยังหดตัวสูงจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังมีอยู่

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลงตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงาน
ด้านตลาดแรงงาน อัตราการว่างงานปรับลดลงเล็กน้อยตามจำนวนผู้มีงานทำที่เพิ่มขึ้น แต่รายได้นอกภาคเกษตรปรับลดลง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลลดลงจากดุลการค้าที่เกินดุลมากขึ้น ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลใกล้กับเดือนก่อน

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยมีดังนี้
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ตามการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนที่ยอดขายยานยนต์ปรับดีขึ้น ประกอบกับผลของฐานที่ต่ำ อย่างไรก็ดี หลังขจัดปัจจัยฤดูกาล เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนปรับลดลงจากเดือนก่อนตามการใช้จ่ายในหมวดบริการจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในช่วงปลายเดือน ที่เริ่มส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการเดินทางและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ใช้มาตรการควบคุมการระบาดเข้มงวด

มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวร้อยละ 4.6 จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยขยายตัวได้เป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน โดยปรับดีขึ้นในเกือบทุกหมวดสินค้า สอดคล้องกับอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ทยอยฟื้นตัว ประกอบกับการฟื้นตัวของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกส่งผลให้การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยขยายตัวดี

สำหรับการผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาหดตัวตามการผลิตน้ำตาลเป็นสำคัญ ขณะที่การผลิตหมวดยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และชิ้นส่วนและแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ยังขยายตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับความต้องการสินค้ากลุ่มดังกล่าวที่เพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวสูงขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน จากการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ โดยเฉพาะยอดจดทะเบียนรถยนต์และการนำเข้าสินค้าทุน สอดคล้องกับอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ทยอยฟื้นตัว อย่างไรก็ดี การลงทุนหมวดก่อสร้างยังหดตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน

การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยรายจ่ายลงทุนยังขยายตัวสูงตามการเบิกจ่ายของรัฐบาลกลาง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานต่ำในปีก่อนที่การประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ล่าช้า ขณะที่การเบิกจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัวต่อเนื่อง สำหรับรายจ่ายประจำหดตัวเล็กน้อยตามการเบิกจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ

มูลค่าการนำเข้าสินค้าทรงตัวใกล้เคียงกับระยะเดียวกันปีก่อน จากที่หดตัวร้อยละ 3.3 ในเดือนก่อนหน้า ตามการนำเข้าที่กลับมาขยายตัวในหลายหมวดสินค้าสำคัญ ทั้งหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง สินค้าทุน และสินค้าอุปโภคบริโภค สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยปรับดีขึ้น

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศหดตัวสูงต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทยที่ยังมีอยู่ แม้ในเดือนนี้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้น จากการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของภาครัฐเพิ่มเติมในบางมิติ แต่โดยรวมยังมีจำนวนไม่มาก

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลงตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงาน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน ด้านตลาดแรงงาน อัตราการว่างงานปรับลดลงเล็กน้อยตามจำนวนผู้มีงานทำที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี แม้อัตราการว่างงานและสัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานในระบบประกันสังคมปรับลดลงบ้าง แต่ยังอยู่ในระดับสูง สะท้อนความเปราะบางในตลาดแรงงาน สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลลดลงจากการเกินดุลการค้าเป็นสำคัญ ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลใกล้กับเดือนก่อน

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 2563 ฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่การฟื้นตัวยังไม่ทั่วถึง โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนกลับมาขยายตัวได้ตามกำลังซื้อที่ทยอยฟื้นตัวในภาพรวมและแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ ประกอบกับมีปัจจัยชั่วคราวจากวันหยุดยาวพิเศษ ทั้งนี้ แม้การบริโภคภาคเอกชนโดยรวมปรับดีขึ้น แต่กำลังซื้อของภาคครัวเรือนยังเปราะบางและมีความแตกต่างกันตามกลุ่มรายได้และพื้นที่ สำหรับการส่งออกสินค้าหดตัวน้อยลงตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ประเทศคู่ค้า ด้านเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนกลับมาขยายตัวสอดคล้องกับอุปสงค์และความเชื่อมั่นของธุรกิจที่ดีขึ้น อุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ฟื้นตัวส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลงสอดคล้องกัน ขณะเดียวกันการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวตามรายจ่ายลงทุน ส่วนหนึ่งจากผลของฐานต่ำในปีก่อนจากการประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ล่าช้า

อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวยังหดตัวสูงจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลงตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานและอาหารสดที่สูงขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลง ด้านตลาดแรงงานปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ยังคงเปราะบางและไม่ทั่วถึง ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจากที่เกินดุลในไตรมาสก่อน ตามดุลการค้าที่เกินดุลลดลงจากการนำเข้าทองคำ


กำลังโหลดความคิดเห็น