xs
xsm
sm
md
lg

ครม.รับทราบผลรายงานภาวะเศรษฐกิจไทย “คลัง” คาดจีดีพีปี' 64 ขยายตัวร้อยละ 3.6

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ภาพจากแฟ้ม)
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ครม.รับทราบรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 3 ปี 2563 ของกระทรวงการคลัง รายงานภาวะเศรษฐกิจไทย คาดปี 2563 หดตัว 7.8% มองปี 2564 ภาคครัวเรือน-ธุรกิจเปราะบาง เสี่ยงผิดนัดชำระหนี้

วันนี้ (5 ม.ค.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ รายงานภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยประจำไตรมาสที่ 3 ปี 2563 ของกระทรวงการคลัง โดยรายงานระบุว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 3 ปี 2563 ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป หลังการผ่อนปรนมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ การบริโภคภาคเอกชนเริ่มทยอยฟื้นตัว แต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำตามรายได้ครัวเรือนที่ลดลง ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่อ่อนแอและหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น การลงทุนภาคเอกชนหดตัวตามความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับต่ำ แต่การใช้จ่ายภาครัฐยังเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ

สำหรับเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2563 กระทรวงการคลังมองว่ามีแนวโน้มหดตัวร้อยละ 7.8 เนื่องจากเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ได้รับผลกระทบรุนแรงจากมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ที่เข้มงวดทั้งในและต่างประเทศ การท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า เป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 ในต่างประเทศที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ ในส่วนของการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มหดตัวร้อยละ 8.2 โดยการส่งออกไปอาเซียนและตะวันออกกลางยังอยู่ในระดับต่ำตามแนวโน้มเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ขณะที่การส่งออกไปกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลักและจีนเริ่มทยอยฟื้นตัว

ส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 2564 มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 3.6 คาดว่าการส่งออกจะกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 4.5 ขณะที่การส่งออกบริการมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า เนื่องจากคาดว่าจะเปิดรับนักท่องเที่ยวได้จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 9 ล้านคน ด้านอุปสงค์ในประเทศการใช้จ่ายภาครัฐยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ ในส่วนการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัว แต่ยังมีปัจจัยฉุดรั้งจากหนี้ครัวเรือนสูง รวมถึงรายได้ครัวเรือนที่เปราะบางและไม่แน่นอนสูง โดยมีสาเหตุมาจากปริมาณผู้ว่างงาน และเสมือนผู้ว่างงานที่ทำงานน้อยกว่า 4 ชั่วโมงต่อวันอยู่ในระดับสูง และผู้มีงานทำมีรายได้ลดลงจากค่าจ้างและค่าล่วงเวลาที่ลดลง

ขณะที่เสถียรภาพระบบการเงินไทยยังมีความเสี่ยงสูงตามภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวมากจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ฐานะทางการเงินของทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจเปราะบางและมีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ อย่างไรก็ตาม มาตรการด้านการเงินและสินเชื่อเชิงรุกของภาครัฐที่ได้ดำเนินการไป รวมถึงมาตรการเพิ่มเติมที่ตรงจุดมากขึ้น เช่น โครงการ DR BIZ การเงินร่วมใจธุรกิจไทยมั่นคง และมาตรการการปรับโครงสร้างหนี้ลูกหนี้รายย่อยโดยการรวมหนี้ จะช่วยบรรเทาความเสี่ยงที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เห็นว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี ถึงจะกลับเข้าสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเผชิญกับความไม่แน่นอนสูง นอกจากนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่แตกต่างกันมากระหว่างภาคเศรษฐกิจและผู้ประกอบการแต่ละกลุ่ม ภาครัฐจึงควรใช้มาตรการที่ตรงจุด ทันการณ์ และเอื้อให้เกิดการปรับตัวอย่างเหมาะสม รวมทั้งบูรณาการมาตรการให้สอดคล้องและเชื่อมโยงกันมากขึ้น ทั้งนี้ นโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่องจะช่วยสนับสนุนนโยบายการคลังผ่านต้นทุนการกู้ยืมในตลาดการเงินที่อยู่ในระดับต่ำภายใต้สภาพคล่องในตลาดการเงินที่มีอยู่สูง


กำลังโหลดความคิดเห็น