ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวต่ำสุดในรอบ 9 เดือนจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 2 พร้อมคาดการณ์ว่าผู้บริโภคจะยังคงชะลอการใช้จ่ายอย่างมากในช่วงไตรมาสที่ 1 และต้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 จนกว่าสถานการณ์โควิด-19 ในไทยจะคลายตัวลง
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือนมกราคม 2564 โดยออกแบบสอบถามตัวอย่างจากประชาชนทั่วประเทศจำนวน 2,234 คน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในรอบ 4 เดือน และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวต่ำสุดในรอบ 9 เดือนนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 เป็นต้นมา
ทั้งนี้ ในเดือนมกราคม 2564 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวลดลงอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือน โดยปรับตัวลดลงจากระดับ 50.1 ในเดือนธันวาคม 2563 สู่ระดับ 47.8 ในเดือนมกราคม 2564
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 41.6 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ อยู่ที่ 45.1 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 56.8
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดว่า ผู้บริโภคจะยังคงชะลอการใช้จ่ายอย่างมากในช่วงไตรมาสที่ 1 และต้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 จนกว่าสถานการณ์โควิด-19 ในไทยจะคลายตัวลงซึ่งต้องติดตามผลสัมฤทธิ์ของผลการควบคุมโควิด-19 ในบ้านเราว่าจะคลี่คลายลงได้เร็วแค่ไหน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะออกมาเยียวผลกระทบของโควิด-19 ในรอบใหม่ช่วงไตรมาสที่ 1-2 จากโครงการ “เราชนะ” “คนละครึ่ง” และ “เรารักกัน” ว่าจะสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยได้มากน้อยเพียงใดและสถานการณ์ทางการเมืองของไทยจะดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไรหลังจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้ซึ่งปัจจัยทั้งสามจะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคต