“ถาวร” ถก 4 หน่วยงานการบินบูรณาการแผนพัฒนาสนามบินทั่วประเทศ สั่ง ทย.หาทางเพิ่มรายได้จากการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ เช่าพื้นทื่ทำคาร์โก้-โรงซ่อมอากาศยาน ชดเชยช่วงโควิดที่ทำการบินดิ่งต่ำสุดเหลือแค่ 10% กระทบรายได้ทรุด
นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมแนวทางการบูรณาการและการประสานงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานด้านการคมนาคมทางอากาศ โดยมี ผู้แทนกรมท่าอากาศยาน (ทย.) สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เข้าร่วมว่า การให้บริการที่ safety & Security เป็นเรื่องสำคัญที่สุดของการขนส่งทางอากาศ ซึ่งเป็นการบริการเพื่ออำนวยความสะดวก และคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุดของผู้ใช้บริการ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องบูรณาการทำงานร่วมกันเพื่อจัดทำกฎหมาย กฎระเบียบ หรือข้อบังคับลักษณะใดลักษณะหนึ่งร่วมกัน เพื่อบังคับใช้ให้เกิดการประสานงานอย่างเป็นระบบ
ได้แก่ 1. ปัญหาและความต้องการของหน่วยงานด้านการคมนาคมทางอากาศที่ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุน ทั้งการขาดการบูรณาการแผนระยะยาวของระดับหน่วยงาน และการทำงานร่วมกันตั้งแต่เริ่มต้น การส่งผลกระทบต่อการปรับปรุง พัฒนาท่าอากาศยาน กรณีการก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ และกรณีการขยายหรือปรับเปลี่ยนทางกายภาพของท่าอากาศยาน ทำให้ส่งผลกระทบโดยรวมต่อแผนการดำเนินงานการพัฒนาท่าอากาศยานของประเทศ
รวมทั้งในระดับนโยบาย การจัดทำแผนแม่บทท่าอากาศยานในภาพรวมเพื่อรองรับความต้องการของแต่ละท่าอากาศยาน ส่วนระดับปฏิบัติการ ทุกท่าอากาศยานควรทำความเข้าใจร่วมกันระหว่างหน่วยงานภายในท่าอากาศยาน
2. แนวทางการบูรณาการและประสานงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานด้านการคมนาคมทางอากาศ กฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับเกี่ยวกับการบูรณาการการทำงานและการประสานงานระหว่างหน่วยงานคมนาคมทางอากาศที่มีอยู่ในปัจจุบัน
เช่น การเสนอให้มีข้อกำหนดเพื่อบังคับใช้ระหว่างหน่วยงาน การอนุญาตปลูกสร้างภายในเขตปลอดภัยในการเดินอากาศ โดยเฉพาะบริเวณใกล้เคียงท่าอากาศยาน เพื่อป้องกันการเกิดกิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อการบิน เช่น การก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่รอบสนามบิน การจัดการนกและสัตว์อันตรายรอบสนามบิน เป็นต้น
นายถาวรกล่าวถึงสถานการณ์การบินว่า หลังจากเกิดโควิด-19 ในปี 2563 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจการบินในภาพรวมมีปริมาณลดลงต่ำสุดเหลือ 10% ทำให้หน่วยงานที่ให้บริการทางอากาศ ทั้ง บวท.ที่ให้บริการจัดจราจรทางอากาศ หรือ ทอท.ที่ให้บริการสนามบิน ได้รับผลกระทบทั้งหมด แต่ช่วงปลายปีสถานการณ์เริ่มฟื้นตัวขึ้น เมื่อเกิดโควิดรอบสองการบินลดลงไปอีก ซึ่งต้องมีมาตรการเยียวยาเพิ่มเติม
เดิมเคยคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมการบินภายในประเทศจะฟื้นตัวเป็นปกติในปี 2565-2566 ส่วนการบินระหว่างประเทศจะฟื้นตัวในปี 2566-2567 แต่เมื่อเกิดโควิดรอบที่ 2 คงจะต้องมีการประเมินจากสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือไออาต้า ใหม่ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่อาจจะทำให้การฟื้นตัวของด้านการบินเร็วขึ้น คือวัคซีนป้องกันโควิดใช้ได้ผลเพียงใด
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานจะมีการหารายได้เพิ่มจากส่วนอื่นๆ ด้วย โดย ทย.เพิ่มรายได้จากบริการภาคพื้นดิน เช่น บริการคาร์โก้ หรือใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในเชิงธุรกิจ ทั้งในอาคารผู้โดยสารที่มีการขยายเพิ่มเติม และพื้นที่โรงซ่อมเครื่องบิน (แฮงก้า) สนามบินที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งได้มอบหมายให้ นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน เร่งหาแนวทางใช้ประโยชน์พื้นที่ทุกตารางนิ้วของสนามบิน
นายสมนึก รงค์ทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บวท.กล่าวว่า ปริมาณการจราจรทางอากาศของประเทศ ช่วงก่อนเกิดโควิด-19 มีปริมาณรวมเกือบ 3,000 เที่ยวบิน/วัน ซึ่งหลังจากโควิดระลอกแรกมีการหยุดบิน จากนั้นช่วงปลายปีเริ่มคลี่คลาย ปริมาณจราจรค่อยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1,300 เที่ยวบิน /วัน แต่เมื่อมีโควิดระลอก 2 ส่งผลกระทบทำให้ปริมาณจราจรทางอากาศลดลงอีกครั้ง โดยต่ำสุดช่วงต้นเดือน ม.ค. 2564 ลดลงเหลือ 400 เที่ยวบิน/วัน ขณะที่ปัจจุบันขยับขึ้นมาอยู่ที่ 700 เที่ยวบิน/วันแล้ว
สำหรับในปี 2564 ต้องรอมาตรการ ศบค.ก่อน ซึ่งคาดว่าปริมาณจราจรทางอากาศจะกลับไปอยู่ที่ระดับ 1,300 เที่ยวบิน/วันได้ ซึ่งจะเน้นการบินเส้นทางภายในประเทศ มีสัดส่วนประมาณ 45% ส่วนระหว่างประเทศสัดส่วนปริมาณการบินประมาณ 55% จะต้องดูสถานการณ์โควิด วัคซีน และมาตรการผ่อนคลายในแต่ละประเทศร่วมด้วย