xs
xsm
sm
md
lg

AOT ยังไม่พ้นมรสุม ลุ้นโอกาสฟื้นตัวครึ่งปีหลัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ท่าอากาศยานไทย ไตรมาสแรกปีนี้ยังไม่ฟื้น หลังเผชิญ COVID-19 ระบาดระลอกใหม่ในประเทศ โบรกฯ ประเมินการฟื้นตัวเริ่มขึ้นไตรมาส 3 ขณะที่แผนลงทุนขยายขีดความสามารถยังเดินหน้าต่อเนื่อง และศักยภาพทางการเงินยังแกร่ง ยันปีนี้ไม่กู้เงินเพื่อมาเสริมสภาพคล่อง เผยปี 2565-2566 ขอประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 อีกครั้งถึงความจำเป็น

โอกาสที่จะได้เห็นราคาหุ้นบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ที่ระดับ 73.00 บาทต่อหุ้นเหมือนดังเช่นวันที่ 5 ก.พ.2563 กับสถานการณ์ในปัจจุบันคงเป็นเรื่องยาก เมื่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นในประเทศ และได้กลับมากดดันทิศทางของธุรกิจอีกครั้ง จากเดิมที่หลายฝ่ายเคยหวังว่าจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวชัดเจนตั้งแต่ปลายปี 2563 และต่อเนื่องไปตลอดปีนี้

เหตุการณ์การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นระลอกนี้ ทำให้กลุ่มหุ้นที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบหนักอีกครั้ง นั่นคือหุ้นกลุ่มโรงแรม กลุ่มสายการบิน และหุ้นสนามบินอย่าง AOT ที่ปัจจุบันมูลค่ามาร์เกตแคปถูกฉุดลงมาเหลือ 8.74 แสนล้านบาท จากสิ้นปี 2562 เคยทำไว้ถึงระดับ 1.06 ล้านล้านบาท เหตุผลสำคัญมาจากผลกระทบของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่เกิดขึ้นมาตลอดทั้งปี 2563 และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ล่าสุด “นิตินัย ศิริสมรรถการ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT ได้เปิดเผยถึงปริมาณการเดินทางของผู้โดยสารหลังเกิดการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ระลอกใหม่ ว่า ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมาจำนวนผู้โดยสารในประเทศลดลง 29% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ 3.4 ล้านคน และลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2563 ที่มีผู้โดยสาร 3.8 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่ผู้โดยสารในประเทศกลับมาฟื้นตัวเต็มที่ หลังเกิดการแพร่ระบาดรอบแรก ขณะล่าสุดช่วงวันที่ 1-10 มกราคมที่ผ่านมา พบว่าผู้โดยสารลดลงเหลือ 2.6 หมื่นคนต่อวัน หรือลดลงประมาณ 84% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และประเมินว่าจะเริ่มเห็นผลกระทบที่ชัดเจนยิ่งขึ้นในช่วงปลายเดือนมกราคม และการลดลงของผู้ใช้บริหารย่อมมีทำให้ผลประกอบการปีงบประมาณ 2564 (ต.ค.63-ก.ย.64) ของ AOT จะขาดทุนแน่นอน แม้จะกลับมาทำการบินในประเทศได้แล้ว แต่ก็ยังมีรายได้น้อยไม่เทียบเท่ากับการมีผู้โดยสารระหว่างประเทศ และยิ่งมีการระบาดในประเทศระลอกใหม่ก็ยิ่งส่งผลกระทบต่อรายได้ แต่ AOT มั่นใจว่าการบินระหว่างประเทศจะเริ่มฟื้นตัวกลับมาในเดือนตุลาคม 2564 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นปีงบประมาณ 2565 ของบริษัท แต่อาจฟื้นตัวกลับมาไม่เต็มที่นัก เพราะแม้จะมีการฉีดวัคซีนต้านไวรัส COVID-19 แล้ว เพราะยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด รวมทั้งต้องรอดูสถานการณ์สายการบินในเวลานั้นด้วยว่าจะเหลือกี่รายที่ยังสามารถให้บริการได้ เพราะการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ได้ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการสายการบินอย่างรุนแรง โดย AOT ยังคงตั้งความหวังไว้ที่เที่ยวบินเช่าเหมาลำ (ชาร์เตอร์ไฟลต์)

อย่างไรก็ตาม ด้วยศักยภาพทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง โดยรัฐบาลถือหุ้นใหญ่ผ่านกระทรวงการคลัง 70% อีกทั้งเป็นผู้ผูกขาดสนามบินในประเทศ ทำให้หลายฝ่ายมั่นว่าเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ยุติลงได้ AOT จะกลับมามีผลดำเนินงานที่เติบโตต่อเนื่องอีกครั้ง และเพื่อเพิ่มตัวเลขผลประกอบการให้แข็งแกร่งมากขึ้น บริษัทจำเป็นต้องเดินหน้าแผนการลงทุนในด้านการเพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารของสนามบินภายใต้การบริหาร โดยเฉพาะสนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมือง

ล่าสุด “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รายงานถึงแผนการพัฒนาท่าอากาศยานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2563 แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถของอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อเร่งผลักดันการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทำให้เมื่อวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ ได้มีการประชุมเป็นครั้งแรกพร้อมมีมติให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ทำการลงทุนอาคารผู้โดยสาร 3 แห่งพร้อมกัน มูลค่ารวมประมาณ 6 หมื่นล้านบาท คือ 1.ส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 1 ด้านทิศตะวันออก (East Expansion) วงเงิน 7.83 พันล้านบาท พื้นที่ 6.6 หมื่นตารางเมตร (ตร.ม.) 2.ส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 1 ด้านทิศตะวันตก (West Expansion) วงเงิน 7.83 พันล้านบาท พื้นที่ 6.6 หมื่น ตร.ม. และ 3.โครงการส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ (North Expansion) วงเงิน 4.12 หมื่นล้านบาท พื้นที่ 3.48 แสน ตร.ม.

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมซึ่งมีเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมเป็นคณะกรรมการด้วยนั้น มีความเห็นว่าควรเร่งรัดพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ที่ 120 ล้านคนต่อปี ตามเป้าหมายของกระทรวงคมนาคม โดยเฉพาะในช่วงนี้ซึ่งเป็นโอกาสดีที่ผู้โดยสารเบาบางลงจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19

อีกทั้ง ประเมินว่าในปี 2565 เมื่อมีการฉีดวัคซีนอย่างกว้างขวางแล้วจำนวนผู้โดยสารจะเริ่มฟื้นตัวกลับมา โดย North Expansion รองรับได้ 30 ล้านคนต่อปี East & West Wing รองรับได้ 30 ล้านคนต่อปี และอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 รองรับได้ 15 ล้านคนต่อปี เมื่อรวมกับความสามารถในการรองรับปัจจุบันที่ 45 ล้านคนต่อปี จะเป็น 120 ล้านคนต่อปี 

ขณะที่ขั้นตอนต่อจากนี้ทาง AOT จะต้องทำการทบทวนแผนแม่บทท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพิ่มเติม หลังจากทำการทบทวนล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 ด้วยการขอความเห็นจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ที่เป็นปัจจุบัน โดยใช้เวลาประมาณ 60 วัน จากนั้น AOT จะรวบรวมข้อมูลรายงานมายังกระทรวงคมนาคม และ สศช. เพื่อนำส่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาประมาณเดือนมีนาคม 2564 หากได้รับการอนุมัติก็จะเปิดประกวดราคาพร้อมกันช่วงเดือนเมษายน-กันยายน 2564 โดย North Expansion ก่อสร้าง 2 ปี แล้วเสร็จเดือนกันยายน 2566 ส่วน East กับ West นั้นใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี 4 เดือน แล้วเสร็จมกราคม 2567

โดยแผนการลงทุนดังกล่าวนั้น กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT ยืนยันว่า บริษัทมีความพร้อมเรื่องเงินลงทุน และในปี 2564 บริษัทไม่จำเป็นต้องกู้เงินมาเสริมสภาพคล่อง ซึ่งขณะนี้เหลือที่ 3.2 หมื่นล้านบาท ส่วนการลงทุนโครงการก่อสร้างนั้นก็เป็นการทยอยลงทุน จึงไม่เป็นภาระแก่ AOT 

อย่างไรก็ตาม ในปี 2565-2566 AOT คงต้องขอประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 อีกครั้งว่าจะต้องกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องหรือไม่ ซึ่ง หากจะกู้ก็จะกู้เพียงเล็กน้อย โดยปกติ AOT มีภาระค่าใช้จ่ายด้านพนักงาน ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายประจำราว 200 ล้านบาทต่อเดือน โดย AOT มีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) ต่ำมากที่ 0.3-0.4 เท่า ซึ่งไม่มีปัญหาหากจะต้องกู้เงินมาเสริมสภาพคล่อง

ส่วนความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง เฟส 3 วงเงินประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ล่าสุด AOT ได้ทบทวนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) พร้อมนำส่งไปยังสำนักงานนโยบายและแผน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) แล้ว ขั้นตอนจากนี้ AOT ต้องนำส่งรายละเอียดโครงการมายัง สศช. เพื่อเสนอ ครม.ต่อไป โดยคาดว่าเรื่องจาก AOT และผล EIA จะถึง ครม.พร้อมกันในเดือนมิถุนายน 2564 เปิดประกวดราคาช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2564 ดังนั้น รวมแล้วในปี 2564 AOT จะได้เปิดประกวดราคาโครงการทั้งหมดประมาณ 9 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ AOT จะเร่งจัดตั้งบริษัทย่อยเพื่อดำเนินธุรกิจการให้บริการภาคพื้นและธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศ (คาร์โก้) ซึ่งคณะกรรมการ (บอร์ด) AOT ได้พิจารณาอนุมัติแล้ว โดยหากมีทุนจดทะเบียนมากว่า 5 พันล้านบาทก็ต้องจัดตั้งผ่านพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน พ.ศ.2562 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ) และเสนอต่อกระทรวงคมนาคม เพื่อเป็นการรองรับหากแผนฟื้นฟูของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ไม่ผ่าน AOT ในฐานะผู้บริหารสนามบิน ก็ต้องจัดให้มีการบริการภาคพื้นดินและคาร์โก้ทดแทน

ไม่เพียงเท่านี้ รมว.คมนาคม แสดงความเห็นถึงสถานการณ์การระบาดโรค COVID-19 กับธุรกิจของ AOT ว่าที่แม้จะทำให้จำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารในปัจจุบันลดลง แต่คาดว่าภายในปี 2564 ที่จะเริ่มมีการใช้วัคซีนต้านไวรัส จึงทำให้รัฐบาลมั่นใจในการควบคุมการแพร่ระบาดได้ และส่งผลให้การเดินทางและท่องเที่ยวกลับมามากขึ้น โดยที่ผ่านมาประเทศไทยพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลัก และกว่า 80% ของรายได้ท่องเที่ยวมาจากทางอากาศ ดังนั้น หากผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวกลับมา เชื่อว่าจะต้องรักษามาตรการเว้นระยะห่างไว้ด้วย ดังนั้นการเพิ่มพื้นที่อาคารผู้โดยสารจึงมีความจำเป็นและจะไม่ทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาส

“การลงทุนเกือบ 90,000 ล้านบาทนั้น เชื่อว่าไม่เป็นปัญหาสำหรับ AOT ที่เป็นรัฐวิสาหกิจระดับต้นๆ ที่มีสถานะการเงินเข้มแข็งมาก และเชื่อว่าในปี 2565 การเดินทางจะกลับมา และรายได้ก็จะกลับมาเช่นกัน”

 บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ จำกัด  ล่าสุดได้  ปรับคำแนะนำของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย ลงจาก "ซื้อ" เป็น "ถือ" คาดว่าการระบาดระลอก 2 จะสิ้นสุดลงในเดือน มี.ค. แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการเดินทางภายในประเทศจะยังไม่กลับไปเป็นปกติเหมือนช่วงก่อนการระบาดระลอก 2 จนกว่าจะถึงช่วงไตรมาส 3/64 และช่วงไตรมาส 4/64 ถึงจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเกิน 1 ล้านคน แม้ว่าจะมีความเป็นไปได้ในเรื่องการเปิดชายแดน แต่เชื่อว่าต้องแก้ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ให้ได้ก่อน ทำให้เชื่อว่าตลาดจะต้องปรับประมาณการปี 2564 ลง และต้องติดตามว่า AOT จะมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการอีกหรือไม่ โดยมีมูลค่าที่เหมาะสม 64.00 บาท

พร้อมกันนี้ ได้ปรับประมาณการนักท่องเที่ยวลงจาก 7 ล้านราย เป็น 5 ล้านรายสำหรับปี 2564 และจาก 26 ล้านราย เป็น 24 ล้านรายสำหรับปี 2565 ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงเป็น 1.7 ล้านราย และ 21 ล้านราย ตามลำดับ ทำให้ผลประกอบการของ AOT ขาดทุน 9.6 พันล้านบาท ต่ำกว่าที่ตลาดคาดอาจขาดทุน 4.4 พันล้านบาท และคาดผลประกอบการไตรมาส 1/64 ที่ขาดทุน 2.6 พันล้านบาท ลดลงจากเดิมที่ขาดทุน 3.7 พันล้านบาทในช่วงไตรมาส 4/63

ส่วน บล.เคทีบี ประเมินทิศทาง AOT ว่าจำนวนผู้โดยสารในประเทศ 1-9 ม.ค.21 กลับมาปรับตัวลดมาก -64% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพราะได้รับผลกระทบมากขึ้นจาก COVID-19 ระลอกใหม่ (เฉลี่ย 2.6 หมื่นคน/วัน) ลดลงจากเดือน ธ.ค.2563 ลดลง 30% (เฉลี่ย 1.1 แสนคน/วัน) และเดือน พ.ย.2563 ลดลง 19% (เฉลี่ย 1.3 แสนคน/วัน) ขณะที่ยังมั่นใจว่าการบินระหว่างประเทศจะเริ่มฟื้นตัวกลับมาในเดือน ต.ค.2564 จากความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน COVID-19 ส่วนด้านกระแสเงินสดของ AOT ปัจจุบันมีสภาพคล่องที่ 3 หมื่นล้านบาท ถือว่าเพียงพอต่อการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2564 จึงประเมินว่าจะไม่มีการกู้เงินในปีนี้แน่นอน

“เรามองเป็นลบจากข่าวดังกล่าว ส่งผลให้การฟื้นตัวของจำนวนผู้โดยสารในประเทศช้ากว่าคาด จากเดิมที่เราประเมินจำนวนผู้โดยสารในประเทศปี 2564 ที่ 43 ล้านคน +23% จากปีก่อน อาจลดลงเหลือราว 35-37 ล้านคน ใกล้เคียงกับปีก่อน และจะส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศฟื้นตัวช้ากว่าคาดเช่นกัน ซึ่งเรามีแนวโน้มปรับลดคาดการณ์ผลการดำเนินงานปีนี้ ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะขาดทุนราว 5 พันล้านบาท และลดลงจากปี 2563 ที่มีกำไร 4.3 พันล้านบาท”

สิ่งสำคัญอีกประการ นั่นคือ จากความคืบหน้าของการฉีดวัคซีน COVID-19 ทั่วโลกที่มีมากขึ้น ทำให้มีความหวังของการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวในอนาคตอันใกล้ จะเป็นปัจจัยช่วยหนุนราคาหุ้นให้ปรับตัวลดลงไม่มาก โดยยังประเมินกำไรปี 2565จะพลิกกลับมามีกำไร และเติบโตก้าวกระโดดในปี 2566 จากการฟื้นตัวของผู้โดยสารระหว่างประเทศและสัญญาสัมปทานที่ King Power ชนะการประมูลในปี 2562 จะเริ่มเก็บผลตอบแทนตั้งแต่กลางปี 2566 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่สิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการและสายการบินด้วย

ทั้งนี้ แม้การระบาด COVID-19 ระลอกใหม่ เป็นปัจจัยกดดันราคาหุ้น แต่มองเป็นโอกาสซื้อ จากความคืบหน้าการฉีดวัคซีน COVID-19 และ outlook ระยะยาวจะดีขึ้น โดยยังแนะนำ ซื้อ ราคาเป้าหมาย 77.00 บาท โดยประเมินการระบาด COVID-19 ในระลอกใหม่จะยังเป็นปัจจัยกดดันราคาหุ้นให้ปรับตัวลดลง แต่ยังมองเป็นโอกาสเข้าซื้อจากความคืบหน้าของการฉีดวัคซีน COVID-19 ที่มีมากขึ้น และยังประเมิน outlook ระยะยาวที่ยังมีทิศทางเติบโตโดดเด่น

บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด หรือ SCBS คาดว่า AOT จะรายงานขาดทุนสุทธิ 3.2 พันล้านบาท ในงบงวดไตรมาสแรกปี 2564 ลดลงจากกำไรปกติ 6.8 พันล้านบาทเทียบปีก่อน เนื่องจากผู้โดยสารภายในประเทศที่กลับมาใช้บริการมากขึ้น ไม่สามารถชดเชยผู้โดยสารระหว่างประเทศที่ขาดหายไปได้ และขาดทุนปกติ 2.6 พันล้านบาท ในงวดไตรมาส 4 ปี 2563 เนื่องจาก AOT บันทึกค่าเช่าที่ราชพัสดุลดลงในงวดไตรมาส 4 ปี 2563 และคาดว่าจะขาดทุนต่อเนื่องจนถึงไตรมาส 3 ปี 2564

ขณะที่ AOT มีมุมมองเชิงบวกเกี่ยวกับการฟื้นตัวของจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศในปี 2565-2566 ซึ่งทางฝ่ายวิจัยคาดว่า AOT จะมีขาดทุนปกติ 8.9 พันล้านบาท ในปี 2564 (แย่กว่าประมาณการเดิมที่คาดว่าจะมีขาดทุนปกติ 6.8 พัน ลบ.) โดยจะมีขาดทุนรายไตรมาสต่อเนื่องจนถึง Q3/2564 (เม.ย.-มิ.ย.2564) ก่อนที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง 2564 และคาดว่าผลประกอบการของ AOT จะฟื้นตัวกลับมามีกำไรปกติ 1.5 หมื่นล้านบาทในปี 2565

ทางฝ่ายวิจัยจึงยังคงเรตติ้งเชิงกลยุทธ์สำหรับ AOT ไว้ที่ NEUTRAL โดยมองว่าราคาหุ้นมี Downside จำกัดแล้วและกำลังรอปัจจัยกระตุ้นจากสัญญาณที่ชัดเจนของการกลับมาเปิดการเดินทาง และ ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น AOT ปรับตัวเพิ่มขึ้น 11% น้อยกว่า SET ที่ปรับขึ้น 25% และความพร้อมของวัคซีนน่าจะช่วยจำกัด Downside ของราคาหุ้นได้ ซึ่งปัจจัยกระตุ้นราคาหุ้น คือ สัญญาณที่ชัดเจนของการกลับมาเปิดการเดินทางที่จะส่งผลทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวอย่างยั่งยืน จึงเปลี่ยนมาใช้มูลค่าเหมาะสมสิ้นปี 2565 เนื่องจากเชื่อว่าสะท้อนถึงการฟื้นตัวได้ดีกว่า ส่งผลทำให้ ราคาเป้าหมายของฝ่ายวิจัยปรับเพิ่มขึ้นสู่ 70 บาทต่อหุ้น (จาก 58 บาทต่อหุ้น) ซึ่งมี Upside 14% จากราคาหุ้นปัจจุบัน 








กำลังโหลดความคิดเห็น