xs
xsm
sm
md
lg

“ศักดิ์สยาม”เคลียร์สศช.-เคาะทอท.ทุ่ม 5.7 หมื่นล.สร้างเทอร์มินัล 2 พร้อมขยายปีกออก-ตก รับ 120 ล้านคน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“อนุทิน-ศักดิ์สยาม”ถก สศช.เคลียร์ปมสร้างเทอร์มินัล 2 สุวรรณภูมิ เคาะก่อสร้างพร้อมกับส่วนต่อขยายตะวันออก-ตะวันตกชงครม. มี.ค.นี้ เร่งก่อสร้าง เสร็จปี66-67 ขยายขีดรับผู้โดยสารเป็น 120 ล้านคน/ปี ทอท.ลั่นพร้อมลงทุนเฉียด 6 หมื่นล้านไม่กระทบสภาพคล่อง

      นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า วันที่ 158 ม.ค. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการพิจารณาแนวทาง การเพิ่มขีดความสามารถอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ครั้งที่ 1/2564 ซึ่งเป็นคณะกรรมการฯที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้ง โดยมี ตนในฐานะรมว.คมนาคม และประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นรองประธาน มีปลัดคมนาคมและเลขาฯสศช. ร่วมเป็นกรรมการ ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารด้านทิศตะวันออก (East Expansion) ทิศตะวันตก (West Expansion) และทิศเหนือ (North Expansion) พร้อมกันทั้ง 3 อาคาร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของสนามบินสุวรรณภูมิให้รองรับผู้โดยสารได้ 120 ล้านคนต่อปี มีวงเงินลงทุนเกือบ 60,000 ล้านบาท         โดย ทางบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. ได้นำเสนอข้อมูล จำนวนผู้โดยสารกับขีดความสามารถในการรองรับ อาคารผู้โดยสารหลัก (ปัจจุบัน) จำนวน 45 ล้านคนต่อปี ซึ่งก่อนเกิดโควิด มีผู้โดยสารกว่า 60 ล้านคนต่อปี เกิดความคับคั่ง และปัจจุบัน สุวรรณภถูมิ อยู่ระหว่างก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1 : SAT-1) รองรับผู้โดยสารได้ 15 ล้านบาท รวมกับอาคารเดิม เป็น 60 ล้านคนต่อปี และมีการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 ซึ่งเมื่อก่อสร้างรันเวย์แล้วเสร็จ จะรองรับจาก 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมงเป็น 90 เที่ยวบิน/ ชั่วโมง หรือประเมินเป็นผู้โดยสารได้ที่ 90 ล้านคนต่อปี โดยจะเสร็จและเปิดใช้ในปี 2565 

          ดังนั้น จึงความจำเป็นต้องขยายความสามารถของอาคารผู้โดยสารให้สัมพันธ์กับขีดความสามารถรันเวย์ จากการหารือกับเลขาฯสศช. ไม่ขัดข้องในการก่อสร้างอาคาร ผู้โดยสารด้านทิศเหนือ หรือ North Expansion ซึ่งจะรองรับได้ 30 ล้านคนต่อปี และเห็นว่าควรทำการขยายอาคารหลักในด้านตะวันออกและตะวันตกไปด้วย ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถอีกด้านละ 15 ล้านคนต่อปี รวมทั้ง 3 อาคารจะรองรับได้เพิ่มอีก 60 ล้านคนต่อปี
         
ประกอบกับปัจจัยเรื่องโควิดที่แม้เที่ยวบินและผู้โดยสารปัจจุบันจะลดลง แต่คาดว่าภายในปี 2564 จะมีเรื่องวัคซีน รัฐบาลมั่นใจในการควบคุมการแพร่ระบาดได้ การเดินทางและท่องเที่ยวจะกลับมา ซึ่งประเทศไทย พึ่งพารายได้ตากการท่องเที่ยวเป็นหลัก และกว่า 80% ของรายได้ท่องเที่ยวมาทางอากาศ และหากผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวกลับมา เชื่อว่าจะต้องยังคงมาตรการเว้นระยะห่างด้วย ดังนั้นการเพิ่มพื้นที่อาคารผู้โดยสารจึงมีความจำเป็นและจะไม่ทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาส
        
 โดยแผนงาน การก่อสร้าง East Expansion มีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารภายในประเทศ 15 ล้านคนต่อปี วงเงินงบประมาณ 7,830 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 29 เดือน พื้นที่ 66,000 ตร.ม. และมีสิ่งอำนวยความสะดวก ได้แก่ เคาเตอร์เช็คอิน 108 เคาเตอร์ สายพานรับกระเป๋า 6 ชุด ช่องตรวจค้น 9 ช่อง
             
การก่อสร้าง West Expansion มีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ 15 ล้านคนต่อปี วงเงินงบประมาณ 7,830 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 29 เดือน พื้นที่ 66,000 ตร.ม. เคาเตอร์เช็คอิน 108 เคาเตอร์ สายพานรับกระเป๋า 6 ชุด ช่องตรวจค้น 9 ช่อง ช่องตรวจคนเข้าเมือง ขาออก 34 ช่อง ขาเข้า 56 ช่อง
          
การก่อสร้าง North Expansion รองรับผู้โดยสารภายในประเทศและระหว่างประเทศ 30 ล้านคนต่อปี วงเงินงบประมาณ 41,260 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 25 เดือน พื้นที่ 348,000 ตร.ม. และมีสิ่งอำนวยความสะดวก อาคารจอดรถ 3,000 คัน หลุมจอดประชิดอาคาร 14 หลุมจอด สายพานรับกระเป๋า 17 ชุด ช่องตรวจค้น 49 ช่อง ช่องตรวจคนเข้าเมือง ขาเข้า 82 ช่อง ขาออก 66 ช่อง รถไฟฟ้าขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Mover : APM) ทั้ง Airside และ Landside รวมทั้งมีพื้นที่ถนนรองรับรถหน้าอาคารผู้โดยสาร (Curb Side)ในส่วนของอาคารทิศเหนือ
          
 “วันนี้ถือว่า สศช.เห็นชอบการลงทุนแล้ว และเวลานี้เป็นช่วงที่เหมาะสมในการดำเนินการเพราะผู้โดยสารน้อย จะไม่วุ่นวาย โดยขั้นตอนจากนี้ให้ทอท. เร่งหารือกับ องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และ สมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) เพื่อทบทวนความเห็นกลับมาอีกครั้งให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน คาดว่าจะสรุปเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้ในเดือนมี.ค. 2564 และเปิดประมูลหาผู้รับจ้าง 6 เดือน (เม.ย.-ก.ย.) เริ่มก่อสร้างต.ค.64 โดยอาคารทิศเหนือจะเสร็จก่อนเร็วสุดในเดือนก.ย. 2566 ส่วนอาคารตะวันออกและตะวันตกจะเสร็จในเดือนม.ค. 2567 “
         
นายศักดิ์สยามกล่าวว่า การลงทุนเกือบ 60,000 ล้านบาทนั้น ไม่เป็นปัญหาสำหรับทอท.ที่เป็นรัฐวิสาหกิจเบอร์ต้นๆ ที่มีสถานะการเงินเข้มแข็งมาก และจากการคาดการณ์ของ IATA เห็นว่า ปริมาณผู้โดยสารของสนามบินสุวรรณภูมิ จะกลับมาที่ 65 ล้านคน หรือเท่ากับเมื่อปี 2562 อีกครั้งในปี 2566 ซึ่งการก่อสร้างส่วนต่อขยายฯ จะทำให้ลดความแออัดและเพิ่มประสิทธิภาพในการรองรับผู้โดยสารได้อย่างเพียงพอ รวมทั้งสนับสนุนการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยเชื่อว่าในปี 2565
             
ด้านนายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.กล่าวว่า ปัจจุบันทอท.มีสภาพคล่องประมาณ 32,000 ล้านบาท และประเมินการเงินในปี 2564 ทอท.ไม่จำเป็นต้องกู้เงิน ส่วนในปี 2565-2566 จะต้องประเมินสถานการณ์วัคซีนและการเดินทางอีกครั้ง โดยเบื้องต้น ทอท.มีรายจ่ายประจำ ประมาณ 250 ล้านบาทต่อเดือน ดังนั้นสภาพคล่องตอนนี้ยังไม่มีปัญหา อย่างไรก็ตาม การลงทุนอาคารผู้โดยสาร 3 หลังนี้มี IRR ที่คุ้มค่า และทอท.มีความพร้อมที่จะลงทุนแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น