xs
xsm
sm
md
lg

“อุดม ตันติประสงค์” ผู้ก่อตั้งสายการบิน Orient Thai และวันทูโก เสียชีวิตแล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“อุดม ตันติประสงค์ชัย” ผู้บุกเบิก “โอเรียนท์ไทย-วันทูโก” สายการบินโลว์คอสต์รายแรกของไทย เสียชีวิตแล้ว หลังศาลเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์โอเรียนท์ไทย เมื่อ 5 มกราคมที่ผ่านมา

เมื่อวันที่ 16 ม.ค. แฟนเพจเฟซบุ๊ก “บันทึกไม่ลับของคนขับเครื่องบิน” ได้โพสต์รูปภาพและข้อความระบุว่า “อุดม ตันติประสงค์ชัย เจ้าของสายการบิน Orient Thai และ วันทูโก เสียชีวิตแล้ว หลังจากเพิ่งปิดตำนานสายการบินโอเรียนท์ ไทย ไม่กี่วันก่อน ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวด้วยครับ หลายๆ คนอาจจะไม่ทราบว่าสายการบิน Low cost สายการบินแรกของประเทศไทย คือ โอเรียนท์ ไทย นี่แหละครับ มาก่อนนกแอร์ และแอร์เอเชียเสียอีก คุณอุดมนับว่าเป็นนักธุรกิจผู้บุกเบิกสายการบินต้นทุนต่ำคนแรกๆ ในไทย”

โอเรียนท์ ไทย แอร์ไลน์ หรือ Orient Thai Airlines ให้บริการครั้งแรกเมื่อปี 2538 ภายใต้ชื่อ โอเรียนท์ เอ็กซ์เพรส แอร์ โดยมีนายอุดม ตันติประสงค์ชัย เป็นเจ้าของ แต่เดิมให้บริการบินในประเทศเป็นหลัก แต่ในเวลาต่อมาก็เริ่มให้บริการบินระหว่างประเทศ เช่น ฮ่องกง เกาหลีใต้ มาเลเซีย และสิงคโปร์ โดยในปี 2546 จึงเปิดสายการบินวัน-ทู-โก เพื่อทำการบินในประเทศ ซึ่งทั้งสองสายการบินนับสายการบินโลว์คอสต์เจ้าแรกของไทย ที่ค่าตั๋วเดินทางไปต่างประเทศ และในประเทศเริ่มต้นแค่หลักพันเท่านั้น

ทั้งนี้ โอเรียนท์ ไทย แอร์ไลน์ ได้ยุติการให้บริการเที่ยวบินทั้งหมดอย่างถาวรในปี พ.ศ. 2561 เนื่องจากถูกสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือ กพท. สั่งพักใบอนุญาตทำการบินแบบไม่มีกำหนด เนื่องมาจากปัญหาด้านภาระหนี้สินค้างจ่ายกับหน่วยงานต่างๆ รวมไปถึงค่าเช่าที่จอดเครื่องบินของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และค่าใช้บริการจราจรทางอากาศของวิทยุการบินแห่งประเทศไทย

เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 62 ศาลกรุงปารีส ฝรั่งเศส มีคำพิพากษาให้จำคุก 4 ปี นายอุดม พร้อมเรียกค่าชดเชย อีก 75,000 ยูโร จากอุบัติเหตุเครื่องบินตกที่ภูเก็ต เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 50 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 90 คน จากผู้โดยสารทั้งหมด 123 คน ลูกเรือ 7 คน โดยผู้เสียชีวิตเป็นชาวไทย 33 คน เป็นชาวต่างชาติ 57 คน ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ อิสราเอล ฝรั่งเศส

ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 64 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เรื่องคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด บริษัท โอเรียนท์ ไทย แอร์ไลน์ จํากัด สืบเนื่องจากบริษัท แอร์โร่ พาร์ท อินเตอร์เนชั่นแนล จํากัด (Aero Parts International LLC) ได้ยื่นฟ้องต่อศาลล้มละลายกลางให้ บริษัท โอเรียนท์ ไทย แอร์ไลน์ จํากัด ล้มละลาย ซึ่งศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563 ที่ผ่านมา
ดังนั้น นับแต่วันที่ศาลได้มีคําสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอํานาจจัดการเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 บุคคลผู้เป็นหนี้ลูกหนี้ หรือมีทรัพย์สินของลูกหนี้อยู่ในครอบครอง มีหน้าที่ต้องแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับหนี้หรือทรัพย์สินของลูกหนี้ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้ทราบคําสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ตามมาตรา 24/1 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ซึ่งผู้ใดมีหน้าที่ตามมาตรา 24/1 แล้วไม่ปฏิบัติตาม มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท ตามมาตรา 173/1 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483

อนึ่ง เจ้าหนี้ซึ่งจะขอรับชําระหนี้ในคดีนี้จะเป็นโจทก์หรือไม่ก็ตาม ต้องยื่นคําขอรับชําระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ฝ่ายคําคู่ความ สํานักงานเลขานุการกรม กรมบังคับคดี หรือสํานักงานบังคับคดี ซึ่งจําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ ภายในกําหนดเวลา 2 เดือน นับแต่วันที่โฆษณาคําสั่งนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้กําหนดวันลงโฆษณาในราชกิจจานุเบกษา ในวันที่ 5 มกราคม 2564 ซึ่งตรวจได้จากเว็บไซต์ของกลุ่มงานราชกิจจานุเบกษาที่ www.ratchakitcha.soc.go.th

สำหรับนายอุดม ตันติประสงค์ชัย เกิดเมื่อปี 2498 ที่กรุงเทพฯ ในครอบครัวทำธุรกิจกิจการโรงฟอกหนัง ไปเรียนที่ไต้หวันตั้งแต่อายุ 13 ปี มีชื่อภาษจีนว่า “เฉิน สวย จิ่น” ต่อมาได้ไปเรียนที่โรงเรียนช่างกลเครื่องบินที่ฮ่องกง เมื่ออายุ 17 ปีได้กลับเมืองไทยและดำเนินธุรกิจส่งออกหนังฟอกไปฮ่องกง พร้อมแปรรูปเศษหนังที่ไม่มีค่า ไขมันไขวัวขายไปทำสบู่ และส่งออกน้ำมันปาล์ม ทำสบู่ให้กับไต้หวัน จากนั้นได้ขยายธุรกิจไปในเวียดนาม, กัมพูชา ฯลฯ

เริ่มต้นธุรกิจสายการบินด้วยการบริหารสายการบิน แคมโบเดีย อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์ไลน์ (CIA) ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติของกัมพูชา ในนามของบริษัท Fuldaa ที่ได้รับสัมปทานจากคณะรัฐมนตรีกัมพูชา เมื่อปี 2533 และเริ่มเปิดบินเที่ยวแรกในเดือนพฤษภาคม 2535 เส้นทางระหว่างกรุงเทพฯ-พนมเปญ และได้ปิดลงเมื่อปี 2537

หลังจากนั้นได้กลับมาตั้งหลักที่ประเทศไทย โดยนำเครื่องบินนจำนวน 3 ลำมาด้วย ระหว่างที่รอใบอนุญาตในปี 2537 นั้นได้รับการติดต่อจาก William Gatchalian ซึ่งเป็นเจ้าของโรงงานพลาสติกของฟิลิปปินส์ ให้ร่วมหุ้น 60-40% ทำสายการบิน แอร์ ฟิลิปปินส์ หลังจากรัฐบาลฟิลิปปินส์เปิดเสรีการบินในปี 2537

ในปี 2538 ก็ได้เริ่มสายการบิน โอเรียนท์ ไทย แอร์ไลน์ สายการบินต้นทุนต่ำ (lowcost) ให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศระหว่างภูมิภาค บินจากเชียงใหม่สู่อุบลราชธานี, อุดรธานี, ขอนแก่น ฯลฯ

ต่อมา 3 ธันวาคม 2546 ได้เริ่มสายการบินวัน ทู โก กระทั่ง 16 กันยายน 2550 เครื่องบินสายการบิน วันทู โก เกิดอุบัติเหตุลื่นไถลออกนอกรันเวย์ที่สนามบินภูเก็ต ส่งผลให้ผู้โดยสารและนักบิน 90 คนเสียชีวิต

สายการบินโอเรียนท์ไทยได้ยุติการบริการเที่ยวบินทั้งหมดอย่างถาวรในปี 2561 เนื่องจากถูกสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) สั่งพักใบอนุญาตทำการบิน แบบไม่มีกำหนด สืบเนื่องมาจากปัญหาด้านภาระหนี้สินที่ค้างจ่ายกับหน่วยงานต่างๆ รวมไปถึงค่าเช่าที่จอดเครื่องบินของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. และค่าใช้บริการจราจรทางอากาศของวิทยุการบินแห่งประเทศไทย

ล่าสุดศาลล้มละลายได้สั่งพิทักษ์ทรัพย์ทั้งหมด โดยเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2564 เรื่องคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์บริษัท โอเรียนท์ ไทย แอร์ไลน์ จำกัด ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483

ด่วน!!

อุดม ตันติประสงค์ชัย เจ้าของสายการบิน Orienthai และ วันทูโก เสียชีวิตแล้ว...

Posted by บันทึกไม่ลับของคนขับเครื่องบิน on Saturday, January 16, 2021



กำลังโหลดความคิดเห็น