ผู้จัดการรายวัน 360 - ทีเส็บยกระดับคุณภาพสถานที่จัดงานด้วย 2HY มาตรการสุขอนามัย Hygiene พร้อมเพิ่มบริการตอบโจทย์ 4.0 ด้วย Hybrid
นางอรชร ว่องพรรณงาม ผู้อำนวยการ ฝ่ายพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ กล่าวว่า “การเตรียมความพร้อมด้านการบริการเป็นเป้าหมายหลักของธุรกิจไมซ์ จึงริเริ่มโครงการและให้การสนับสนุนเพื่อเตรียมความพร้อมและยกระดับศักยภาพของสถานที่จัดงานที่ได้มาตรฐานสถานที่จัดงานประเทศไทย หรือ TMVS ด้วยการให้แนวปฏิบัติและมาตรฐานเพิ่มเติมด้านสุขอนามัย (Hygiene) และเทคโนโลยีการจัดประชุม (Hybrid) ผ่านโครงการยกระดับมาตรฐานสถานที่จัดงานประเทศไทย เพิ่มเติมความเชื่อมั่นในการบริการด้วยสูตรสำเร็จ 2HY (Hygiene และ Hybrid)
ในปี 2564 นี้จะมีการออกกำหนดข้อตรวจประเมินมาตรฐานเพิ่มเติม และจะมีการตรวจประเมินเกณฑ์มาตรฐานนี้เพิ่มเติมในปี 2565 เพื่อเป็นการยืนยันความพร้อมของสถานที่จัดงานประเทศไทยในการรองรับการกลับมาของอุตสาหกรรมไมซ์ทั้งในประเทศ และต่างประเทศหลังวิกฤตโควิด-19
ปัจจุบันจะเห็นว่าสถานที่การจัดงานมีการเตรียมความพร้อมหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของบุคลากร การบริการที่ได้คุณภาพมาตรฐาน อุปกรณ์ที่สะอาดถูกสุขอนามัย บรรยากาศและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ตอบโจทย์ โดยเฉพาะในยุค New Normal ที่ทุกคนมองหาเทคโนโลยีที่มาเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดงาน ไม่ว่าจะเป็นขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่
สิ่งที่มาช่วยเติมเต็มความต้องการ คือ เทคโนโลยี การประชุมแบบไฮบริด “HYBIRD” เป็นอีกทางเลือกใหม่ของเหล่านักจัดงานอีเวนต์และออร์แกไนเซอร์ที่จะมาปรับเปลี่ยน ปรับแต่งให้งานอีเวนต์ไม่จำเจ ผสานทั้งรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์เข้าเอาไว้ด้วยกัน
ยกตัวอย่างที่เห็นจริงในงานแสดงสินค้าที่มีการจัดงานจริง พบปะกันจริง แต่ผสมผสานการนำแพลตฟอร์มดิจิทัลมาถ่ายทอดสู่ออนไลน์ ประโยชน์คือผู้จัดงานลดต้นทุน เพิ่มช่องทางให้ Exhibitor และ Visitor ได้พบปะเจอกันในอีกโลกหนึ่งคือดิจิทัล ส่วน Visitor ประหยัดเวลาการเดินทางมาชมงานแสดงสินค้า ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในช่วงภาวะวิกฤตโควิดที่ทุกคนต้องเผชิญ
2HY = Hygiene + Hybrid
เป็นสูตรสำเร็จของความต้องการของผู้จัดงาน สำหรับสถานที่จัดงานควรเตรียมพร้อมมาตรการด้านสุขอนามัยในอุตสาหกรรมไมซ์ซึ่งสำคัญมาก สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้เข้าใช้บริการ และผู้ให้บริการ เพียงแค่ปรับเปลี่ยน Mindset และปฏิบัติตามสูตร 4+5 (4 เกณฑ์ด้านการควบคุมโรค และ 5 มาตรการด้านอนามัย) ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แค่นี้จำกันง่ายๆ ก็จะช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อโรค
4 เกณฑ์ด้านการควบคุมโรค ประกอบด้วย
1) การควบคุมความหนาแน่น กำหนดขนาดพื้นที่ไม่น้อยกว่า 4 ตารางเมตรต่อผู้ร่วมกิจกรรม 1 คน และมีการเว้นระยะห่างทางกายภาพไม่น้อยกว่า 1 เมตร
2) ระยะเวลา จัดให้มีระบบควบคุมจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมตามรอบและระบบจองคิวการเข้าชมงานล่วงหน้า
3) จัดการระบายอากาศที่เพียงพอ ทั้งภายในอาคารและห้องสุขา รวมทั้งมีการทำความสะอาดอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง
4) การกำกับติดตาม จัดให้มีระบบลงทะเบียนก่อนเข้าและออกจากสถานที่ โดยใช้แอปพลิเคชันที่ทางราชการกำหนด “ไทยชนะ”
ส่วน 5 มาตรการด้านอนามัย ประกอบด้วย
1) การตรวจคัดกรอง ให้มีการตรวจคัดกรองอาการไข้ ไอ หอบเหนื่อย เป็นหวัด สำหรับพนักงาน ผู้จัดแสดงสินค้า และผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนก่อนเข้าในบริเวณการจัดงาน พร้อมติดสัญลักษณ์แสดงการคัดกรอง “ผ่าน” และสวมหน้ากาก
2) การเว้นระยะห่าง จัดเตรียมพื้นที่และทำสัญลักษณ์เว้นระยะห่างของจุดบริการ ทั้งพื้นที่ทางเดิน และในจุดสำคัญ เช่น จุดรอเข้าชมงาน จุดรอยานพาหนะ จุดลงทะเบียน จุดคัดกรอง จุดรับรถเข็น/ตะกร้า จุดวางสินค้า ขายดี/ลดราคา จุดแลกของรางวัล พื้นที่จัดประชุม
3) อาหารและเครื่องดื่ม ให้เว้นระยะห่างระหว่างโต๊ะ และระหว่างที่นั่ง รวมถึงระยะห่างระหว่างการเดิน ห้ามการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในสถานที่จำหน่ายอาหาร
4) การจัดการขยะ จัดให้มีจุดวางถังขยะชนิดมีฝาปิดเพื่อรวบรวมขยะต่างๆ โดยแยกขยะหน้ากากอนามัยจากขยะทั่วไป และมัดปากถุงให้แน่นก่อนส่งกำจัดตามหลักสุขาภิบาลทุกวัน
5) ห้องน้ำ ความสะอาดห้องสุขา โดยเน้นจุดที่เสี่ยงที่มีผู้สัมผัสมากด้วยน้ำยาทำความสะอาด เช่น โซเดียมไฮโปคลอไรท์ 0.1% แล้วล้างด้วยน้ำให้สะอาดอย่างน้อยทุก 1 ชั่วโมง
Hybrid Meeting นิยามของอีเวนต์ประเภทนี้ก็คือ ‘การประชุมลูกผสม’
เป็นการประชุมที่ผสานทั้งรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์เข้าไว้ด้วยกัน ที่เริ่มต้นจากการเป็นตัวเลือกหนึ่งของอุตสาหกรรมการจัดนิทรรศการและแสดงสินค้าในช่วงฟื้นฟู เพื่อตอบโจทย์ผู้เข้าร่วมงานบางส่วนที่ไม่สามารถเดินทางไปเข้าร่วมได้ ด้วยรูปแบบที่ผสมผสานระหว่างงานแบบพบปะกันตามปกติ (ออฟไลน์) และแบบออนไลน์ที่ยังคงสร้างสรรค์ได้หลายรูปแบบ (ออนไลน์)
การจัดงานแบบไฮบริดช่วยให้ผู้เข้าร่วมงานประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายเรื่องของการเดินทาง อีกทั้งทางฝั่งของผู้จัดงานก็ยังสามารถช่วยลดต้นทุนได้ในหลากหลายส่วน ทั้งเรื่องสถานที่ การขนส่ง อุปกรณ์ ที่ย้ายมาอยู่ในฐานออนไลน์มากขึ้น แต่ก็ยังคงความท้าทาย เนื่องจากการประชุมหรือการจัดกิจกรรมบางงานจะเกิดประสิทธิภาพได้มากกว่าเมื่อผู้เข้าร่วมงานมาเจอกัน ในปัจจุบันมีสถานประกอบการไมซ์หลายรายปรับตัวพร้อมให้บริการในรูปแบบ Hybrid Meeting อยู่เป็นจำนวนมาก