การตลาด - โควิด-19 ยังตามอาละวาดไม่ลดละ สถานการณ์น่าเป็นห่วงอีก “ทีเส็บ” ผนึก 13 องคร์กรไมซ์ของเอชนร่วมกันเร่งกระตุ้นไมซ์ในประเทศช่วยผู้ประกอบการและชุมชน เผยสรุปการดำเนินงาน 6 ด้าน พร้อมต่อยอดโครงการประชุมเมืองไทยปลอดภัยกว่า และสนับสนุนการฝึกอบรมรองรับไมซ์ในอนาคต ด้านเอกชน ไบเทค และอิมแพ็ค พร้อม
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ เปิดเผยว่า ผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในรอบใหม่นี้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไมซ์ ทำให้ทีเส็บ และภาคีภาคเอกชน 13 สมาคมเร่งร่วมหารือแสวงหามาตรการที่เหมาะสมในการปกป้องอุตสาหกรรมไมซ์ในระยะเฉพาะหน้า และเตรียมพร้อมแผนงานในระยะยาว
ที่ประชุมได้ข้อสรุปที่จะให้ความสำคัญต่อการกระตุ้นให้เกิดการจัดกิจกรรมไมซ์ในช่วงเวลาที่เหมาะสม โดยยึดมาตรฐานความปลอดภัยสาธารณสุข และส่งเสริมให้เกิดธุรกิจในพื้นที่ต่างๆ กระจายสู่ทั่วประเทศ
นายจิรุตถ์กล่าวว่า หนึ่งในโครงการหลักที่จะดำเนินงาน คือ ต่อยอดโครงการประชุมเมืองไทยปลอดภัยกว่า สนับสนุนงบประมาณกระตุ้นการจัดกิจกรรมไมซ์และการเดินทางในประเทศ โดยใช้ไมซ์เป็นเครื่องมือช่วยบรรเทาปัญหาของประเทศที่ทีเส็บและภาคีร่วมกันทำเมื่อปีที่แล้ว และประสบความสำเร็จอย่างดีมาก
กล่าวคือ มีองค์กรภาคเอกชนจัดกิจกรรมไมซ์มากถึง 1,049 กลุ่ม มีการเดินทางของประชาชน 62,000 คนไปในกว่า 50 จังหวัด ซึ่งที่ผ่านมาภายในเวลาสั้นๆ ความร่วมมือของบริษัท ห้างร้าน ช่วยกระจายเม็ดเงินไปไม่นอยกว่า 130 ล้านบาทไปในทั่วภูมิภาค ทำให้เรามั่นใจว่าโครงการนี้จะไปต่อได้ และเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม โดยเบื้องต้นจะปรับใช้แผนงบประมาณภายในสำหรับโครงการนี้ประมาณ 20 ล้านบาท
ผลสรุปของการประชุมร่วม แบ่งการดำเนินงานเป็น 6 ด้าน ประกอบด้วย
1. การส่งเสริมตลาดเพื่อผู้ประกอบการ กระตุ้นการจัดประชุมสัมมนาในประเทศ สานต่อโครงการประชุมเมืองไทยปลอดภัยกว่าต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา สนับสนุนงบประมาณขยายผลให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ปรับเกณฑ์ขอรับการสนับสนุนให้เข้าถึงง่าย สะดวกรวดเร็วขึ้น และศึกษาความเป็นไปได้ในการเชื่อมโยงกับโครงการอื่นๆ ของรัฐ ทั้งยังคงสนับสนุนผู้ประกอบการในการเตรียมความพร้อมสถานที่ตามมาตรฐานความปลอดภัยและสุขอนามัย (Safety & Hygiene) และการฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรเพื่อรองรับความต้องการเฉพาะกลุ่ม
2. กระตุ้นกิจกรรมในภูมิภาคเพื่อฟื้นฟูท้องถิ่น โดยให้เอกชนจัดทำแผนงานกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยกิจกรรมไมซ์ประเภทต่างๆ และนำเสนอของบประมาณผ่านทีเส็บ เน้นให้ภาคเอกชนบูรณาการการทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยแบ่งการจัดทำโครงการเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มการแสดงสินค้า (Exhibition) กระจายในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ การจัดอีเวนต์และเทศกาลระดับพื้นที่ โดยเน้นกระตุ้นในพื้นที่ที่มีความพร้อมในการจัดงาน การจัดอีเวนต์และเทศกาลขนาดใหญ่ระดับภูมิภาคหรือระดับประเทศที่ต่อเนื่องมีระยะเวลาหลายเดือน เพื่อส่งเสริมการเดินทางข้ามภูมิภาค
3. การเพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยสาธารณสุขของงาน โดยทีเส็บจะเน้นประชาสัมพันธ์เรื่องการจัดงานอย่างปลอดภัย โดยส่งเสริมมาตรฐานและความปลอดภัย (Safety & Hygiene) ในการจัดงานและสถานที่จัดงาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักเดินทางไมซ์และสาธารณชนในวงกว้าง ขณะเดียวกันจะผลักดันให้มีการกำหนดแผนฟื้นฟูร่วมกัน เช่น การพัฒนาต่อยอดแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการจัดกิจกรรมไมซ์ทุกประเภท
4. ส่งเสริมการจัดกิจกรรมโดยหน่วยราชการ โดยผลักดันให้มีนโยบายกระตุ้นการจัดประชุมสัมมนาของหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะการจัดงานในวันธรรมดา เพื่อกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นและภูมิภาค พร้อมมีการติดตามผลเพื่อการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง รวมถึงผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐเสนอตัวเป็นเจ้าภาพดึงงานและการประชุมระดับนานาชาติที่มีความสำคัญเข้ามาจัดในประเทศไทย
5. ดึงงานไมซ์ในอนาคตเข้าสู่ประเทศไทย เช่น งานประชุมนานาชาติ เพื่อขับเคลื่อนการเป็นศูนย์กลางการประชุมนานาชาติของไทย ตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติประเด็นท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ ตลอดจนพัฒนาเครือข่ายตัวแทนการตลาดและพันธมิตรเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการทำการตลาด ดึงงาน และสร้างงานต่างๆ ในแต่ละอุตสาหกรรมตามนโยบายรัฐบาล
6. การสนับสนุนในระดับนโยบายจากรัฐบาล เช่น จัดงบประมาณให้ภาคเอกชนไปดำเนินการจัดกิจกรรมการประชุมสัมมนา หรืองานแสดงสินค้า การประกาศให้หน่วยงานภาครัฐจัดการประชุมสัมมนา หรือการผ่อนคลายมาตรการด้านการจัดซื้อจัดจ้างของทางภาครัฐ เพื่อผู้ประกอบการรายย่อยจะได้มีโอกาสในการจ้างงานมากขึ้น โดยทีเส็บเป็นตัวกลางในการรวบรวมข้อเสนอต่างๆ เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลตามลำดับขั้นตอนต่อไป
จากการประชุมเพื่อร่วมกันกระตุ้นอุตสาหกรรมไมซ์ จะมีการดำเนินงานอย่างเป็นเอกภาพต่อไป โดยทีเส็บและภาคี ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (TCT) สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (ADT) สมาคมสมาพันธ์ธุรกิจการท่องเที่ยวส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย (TFOPTA) สมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) (TICA) สมาคมการแสดงสินค้าไทย (TEA) สมาคมโรงแรมไทย (THA) สมาคมการค้าผู้จัดงานกีฬามวลชนไทย (TMPSA) สมาคมเครือข่ายผู้สร้างสรรค์ธุรกิจบันเทิงไทย (TECNA) สมาคมการค้าส่งเสริมการจัดมหกรรมและเทศกาลนานาชาติไทย (TIEFA) เครือข่ายจัดตั้งสมาคมส่งเสริมอุตสาหกรรมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (CAPT) สมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน (EMA) สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) และสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA)
นายจิรุตถ์กล่าวถึงแผนการสนับสนุนการจัดงานในปี 2564 ไว้ด้วยว่า ปี 2564 ทางทีเส็บมีแผนการสนับสนุนการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติ 58 งาน แบ่งเป็นงานเดิม 44 งาน และงานใหม่จำนวน 14 งาน ซึ่งงานทั้งหมดจะเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร และอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ซึ่งคาดว่าจะก่อให้เกิดรายได้หมุนเวียน 23,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในรอบปีงบประมาณ 2563 พบว่าประเทศไทยมีนักเดินทางไมซ์รวมประมาณ 10,456,899 คน สร้างรายได้เข้าประเทศ 61,317 ล้านบาท แบ่งเป็นนักเดินทางไมซ์ต่างชาติ 500,090 คน สร้างรายได้ 29,819 ล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มประชุมองค์กรจำนวน 149,638 คน ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ทำรายได้สูงสุด 9,414 ล้านบาท, กลุ่มประชุมวิชาชีพจำนวน 139,639 คน สร้างรายได้ 8,317 ล้านบาท, กลุ่มการเดินทางเพื่อเป็นรางวัล จำนวน 122,102 คน สร้างรายได้ 5,624 ล้านบาท และกลุ่มงานแสดงสินค้า จำนวน 88,711 คน สร้างรายได้ 6,464 ล้านบาท
ส่วนนักเดินทางไมซ์ในประเทศมีจำนวนรวม 9,956,809 คน สร้างรายได้ 31,498 ล้านบาท โดยกลุ่มงานแสดงสินค้าถือเป็นตลาดใหญ่ที่สุด จำนวน 7,900,843 คน สร้างรายได้ 26,452 ล้านบาท รองลงมาคือ กลุ่มประชุมวิชาชีพจำนวน 1,350,609 คน สร้างรายได้ 3,016 ล้านบาท, กลุ่มประชุมองค์กร จำนวน 604,246 คน สร้างรายได้ 1,501 ล้านบาท และกลุ่มการเดินทางเพื่อเป็นรางวัล จำนวน 101,111 คน สร้างรายได้ 529 ล้านบาท
ขณะที่ภาคเอกชน ผู้ประกอบการทางด้านพื้นที่การจัดงานต่างก็มีความพร้อมและความเคลื่อนไหวและมีมาตรการในการป้องกันโควิด-19 เช่นกัน
นางสาวปนิษฐา บุรี กรรมการผู้จัดการ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค เปิดเผยว่า เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้จัดงานและผู้ที่เข้าใช้บริการภายในศูนย์ฯ สืบเนื่องจากมาตรการคุมเข้มเพื่อเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่การระบาดรอบแรกเมื่อต้นปี 2563 ที่ผ่านมา ไบเทคได้มีการเสริมมาตรการพร้อมปรับข้อกำหนดและแนวทางการให้บริการเพื่อสอดรับกับนโยบายของภาครัฐในปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังได้มีการขอความร่วมมือจากพนักงานและบุคลากรของไบเทคในการเข้ารับการอบรมในรูปแบบออนไลน์ในการรักษาสุขอนามัยและรักษาระดับคุณภาพบริการตามมาตรฐานของไบเทคอย่างเคร่งครัด
สำหรับมาตรการคุมเข้มในการเฝ้าระวังและป้องกันด้านสุขอนามัยภายในศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคนั้นจะประกอบไปด้วย การตรวจคัดกรองก่อนเข้าพื้นที่ด้วยการวัดอุณหภูมิ และลงทะเบียน “ไทยชนะ” และยังได้มีการทำความสะอาดทุกจุดบริการ และทุกพื้นผิวสัมผัส เช่น ห้องน้ำ และบัตรจอดรถ และจัดวางเจลแอลกอฮอล์ทุกจุดสำคัญต่างๆ
นอกจากนี้ พนักงานและผู้เข้ามาในบริเวณศูนย์ฯ ทุกคนต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย และเว้นระยะห่างมากกว่า 1 เมตร พร้อมมีมาตรการในการฆ่าเชื้อไวรัสด้วย UVC Technology ในทุกพื้นที่บริการภายในศูนย์ฯ และเพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้ผู้จัดงานและผู้ที่มาใช้บริการที่ศูนย์ฯ ไบเทคได้มีการจัดทำ วิดีโอที่แสดงให้เห็นถึงมาตรการต่างๆ ที่ไบเทคดำเนินการเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโควิด-19
ด้วยมาตรการและการทำงานอย่างมีระบบตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ผู้จัดงาน ออร์แกไนเซอร์ และผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ ยังคงเชื่อมั่นในสถานที่และไว้วางใจในการจัดประชุมสัมมนา รวมถึงจัดงานแสดงนิทรรศการและงานแสดงสินค้าที่สำคัญทั้งในระดับประเทศ และระดับนานาชาติ ตามที่กำหนดไว้ในครึ่งแรกของปี 2564 นี้ ไม่ว่าจะเป็น SAHA Group Fair 2021, Asia Fashion (Thailand) Show H & B 2021, Architechnica Asia & Horti Asia 2021, MEGA Show Bangkok 2021 และ Bangkok Beauty Show 2021 เป็นต้น
นอกจากนี้ ไบเทคยังได้มีการประชาสัมพันธ์ตามช่องทางออนไลน์ต่างๆ เพื่อให้ลูกค้าสามารถติดตามข้อมูลอัปเดตได้อย่างทันท่วงทีในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นี้ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์หลักของไบเทค เฟซบุ๊ก และสื่อโซเชียลอื่นๆ อย่าง ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม และไลน์ ออฟฟิเชียล แอ็กเคานต์ รวมถึงตามจุดประกาศต่างๆ ภายในบริเวณศูนย์ฯ อีกด้วย โดยกำหนดการเปิดให้บริการในเดือนมกราคม 2564 ของศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค (BITEC) ยังคงเปิดให้บริการตามปกติ ภายใต้การคุมเข้มตามมาตรการป้องกันการแพร่กระบาดของไวรัสโควิด-19
ส่วนรายชื่อร้านอาหารและร้านค้าที่เปิดให้บริการ ประกอบด้วย ศูนย์อาหารและร้านอาหาร, Food Yard เปิดให้บริการวันที่ 11-31 ม.ค. 64 วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 07.00-15.00 น., ร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven และ Lawson108, ร้านค้าและธนาคาร คือ ธนาคารออมสิน, ร้าน Office Mate, Bangkok Blueprint และ Lemon Telecom
ก่อนหน้านี้ นายพอลล์ กาญจนพาสน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ในเครือบางกอกแลนด์ กล่าวไว้ว่า ในปี 2564 อิมแพ็คมีแผนการลงทุนต่อเนื่องเพื่อสร้างศักยภาพให้โครงการ โดยเฉพาะการสร้างสิ่งต่างๆ ทั้งการสร้างทางเชื่อมต่อระหว่างอาคารในพื้นที่กับสถานีรถไฟฟ้าสายสีชมพูทั้ง 2 สถานีในพื้นที่ การขยายงานทางด้านอาหารและแคเทอริ่งอย่างเต็มที่เพื่อรองรับธุรกิจการจัดงาน
ส่วนยอดการจองพื้นที่จัดงานในช่วงปี 2564 เริ่มมีการทยอยจองพื้นที่เข้ามาตั้งแต่ปลายปีที่แล้วเป็นจำนวนมาก มีจำนวนประมาณ 340 งานแล้ว คือ งานประชุมสัมมนา 107 งาน, งานเอ็กซิบิชันทั่วไป 76 งาน, งานเอ็กซิบิชันด้านการค้า 14 งาน, งานปาร์ตี้ 24 งาน, งานแต่งงาน 41 งาน, งานคอนเสิร์ต และแฟมิลีโชว์ 51 งาน และงานประเภทอื่นๆ อีก 27 งาน
สิ่งที่พอลล์คาดหวังไว้ว่าในปี 2564 จะมีสถานการรณ์ที่ดีขึ้น หากเรื่องของวัคซีนมีความชัดเจนและสามารถดำเนินการได้ช่วงเดือนพฤษภาคม จะส่งผลดีต่อธุรกิจในภาพรวมที่จะกลับมา 80% ขณะที่ภาพของลูกค้าต่างประเทศนั้น โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวกับเอ็กซิบิชันคาดว่าจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวช่วงเดือนสิงหาคมได้