ส.อ.ท.เปิดผลสำรวจ FTI Poll จากการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรม พบส่วนใหญ่เชื่อมั่นมาตรการรัฐคุมโควิด-19 สู่ภาวะปกติได้ใน 2-4 เดือน แต่ยังกังวลแนวทางปฏิบัติที่อาจกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ ส่วนความพร้อมรับมือกรณีปิดกิจการ 14 วันพบส่วนใหญ่ปิดไม่ได้ ส่วนมาตรการที่อยากเห็นสูงสุดคือการลดดอกเบี้ยและพักชำระหนี้ถึง 73.8%
นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ มุมมองของผู้บริหาร ส.อ.ท.ต่อมาตรการป้องกันโควิด-19 และการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกใหม่ พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท.ยังคงมีความเชื่อมั่นต่อมาตรการควบคุมการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ และมองว่ารัฐบาลจะสามารถกำกับดูแลให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 2-4 เดือน แต่อย่างไรก็ตามยังคงมีความกังวัลเกี่ยวกับการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการระบาดโควิด-19 ที่อาจส่งผลกระทบต่อการประกอบการ เช่น การขนส่งสินค้าข้ามจังหวัด การเดินทางของพนักงาน/ลูกจ้าง การใช้แรงงานต่างด้าว เป็นต้น
“การสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 160 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 74 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท.ส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นต่อมาตรการควบคุมการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ของภาครัฐอยู่ในระดับมาก ที่ร้อยละ 46.3 และร้อยละ 39.4 มองว่ารัฐบาลจะสามารถกำกับดูแลและควบคุมให้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ กลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ภายใน 2-4 เดือน โดยที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันในการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างเข้มงวดและจริงจัง รวมทั้งภาครัฐจะต้องเข้ามาดูแลในส่วนของผู้ประกอบการรายย่อย (SME) ให้สามารถประคับประคองธุรกิจให้ผ่านช่วงเวลานี้ไปให้ได้” นายวิรัตน์กล่าว
สำหรับมาตรการควบคุมการระบาดโควิด-19 ของภาครัฐที่อาจส่งผลกระทบต่อการประกอบการนั้น 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 มาตรการที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าข้ามจังหวัด ร้อยละ 60.6 อันดับ 2 การเดินทางของพนักงาน/ลูกจ้าง ร้อยละ 59.4 อันดับ 3 การใช้แรงงานต่างด้าวในภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 58.8 และหากดูจากผลกระทบด้านต้นทุนในการประกอบการที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการระบาดโควิด-19 พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 33.1 มีต้นทุนเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 10-20 ของต้นทุนการประกอบการในช่วงปกติ
นอกจากนี้ FTI Poll ยังได้เจาะลึกไปถึงเรื่องความพร้อมในการรับมือกรณีที่จะต้องปิดกิจการ 14 วัน รวมทั้งการดูแลพนักงานที่ติดโควิด พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 45.6 ไม่สามารถปิดกิจการ 14 วัน และต้องให้ภาครัฐเข้ามาดูแลพนักงานที่ติดโควิด รองลงมา ร้อยละ 35 มีความพร้อมในการปิดกิจการ 14 วัน แต่ต้องให้ภาครัฐเข้ามาดูแลพนักงานที่ติดโควิด และมีเพียงร้อยละ 19.4 ที่มีความพร้อมในการปิดกิจการ 14 วัน และสามารถดูแลพนักงานที่ติดโควิดได้
ในส่วนของความพึงพอใจของผู้บริหาร ส.อ.ท.ต่อมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิดระลอกใหม่ที่ภาครัฐได้ออกมาตรการเยียวยาในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นโครงการมาตรการเราชนะ การขยายสิทธิ์โครงการคนละครึ่ง การลดค่าไฟฟ้า/ค่าน้ำประปา การขยายเวลาลดหย่อนส่งเงินสมทบประกันสังคม เป็นต้น พบว่า ส่วนใหญ่ผู้บริหาร ส.อ.ท.มีความพึงพอใจอยู่ในระดับปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 58.1
ขณะที่มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการที่ผู้บริหาร ส.อ.ท.อยากให้ภาครัฐพิจารณาดำเนินการเพิ่มเติม พบว่า สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 การลดดอกเบี้ยเงินกู้และพักชำระหนี้ ร้อยละ 73.8 อันดับ 2 การลดหย่อนทางภาษี/เลื่อนการชำระภาษี ร้อยละ 70.6 อันดับ 3 จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการ ร้อยละ 65.6 อันดับ 4 การกระตุ้นการบริโภคในกลุ่มผู้ที่เสียภาษี เท่ากันที่ร้อยละ 64.4 และอันดับ 5 การปรับหลักเกณฑ์ พ.ร.ก.เงินกู้ฯ ให้เพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน ร้อยละ 57.5