xs
xsm
sm
md
lg

ส.อ.ท.แนะรัฐคุมแรงงานต่างด้าวหยุดกระจายเชื้อโควิด ชี้ 1-2 เดือนคุมอยู่กระทบ ศก.ไม่มาก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส.อ.ท.ผวายอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รอบใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หาก 1-2 เดือนคุมได้กระทบ ศก.ปี 2564 ไม่มาก แต่หากลากยาวและยอดติดเชื้อยังเพิ่มสูงจะกระทบมากขึ้นแต่ยังหวังไม่ถึงขั้นติดลบหลังมีลุ้นวัคซีน แนะรัฐเร่งคุมแรงงานต่างด้าวสมุทรสาครไม่ให้กระจายสู่พื้นที่อื่นๆ และระยะต่อไปต้องจัดระเบียบ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
เปิดเผยว่า ภาคเอกชนกำลังติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในไทยใกล้ชิด เนื่องจากกังวลถึงผู้ติดเชื้อที่เริ่มมีอัตราสูงขึ้นต่อเนื่องและอาจนำไปสู่จำนวนผู้ติดเชื้อที่เกินศักยภาพจำนวนเตียงที่จะรักษาพยาบาลจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างและรวมไปถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2564 โดยเบื้องต้นหากภายใน 1-2 เดือนทุกฝ่ายร่วมมือสามารถควบคุมการระบาดได้เศรษฐกิจปี 2564 จะกระทบเพียงเล็กน้อยแต่หากระยะยาวแล้วมีผู้ติดเชื้อต่อวันระดับ 1,000 คนจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจให้มีโอกาสถดถอยแต่จะไม่ถึงขั้นติดลบ

“เราเคยประเมินว่าเศรษฐกิจปี 2564 จะโต 3% จากปี 2563 และส่งออกโต 3-5% กรณีควบคุมได้ใน 1-2 เดือนจากนี้เศรษฐกิจปี 64 อาจโตเพียง 2-3% แต่หากยาวไปมากกว่านี้อาจโตลดลงแต่ก็จะไม่ติดลบโดยโควิด-19 รอบใหม่นี้ไทยเรามีประสบการณ์จึงมีข้อดีและกำลังจะมีวัคซีน ดังนั้นระหว่างรอวัคซีนจะต้องร่วมมือกันอย่างเข้มข้น ซึ่งสมาชิก ส.อ.ท.กำลังนำแผนดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง (BCP) มาดำเนินการเพื่อรับมือโควิด-19 อีกครั้ง” นายเกรียงไกรกล่าว

ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐเร่งดำเนินการคือการเช็กแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาแบบผิดกฎหมายแล้วกลัวความผิดก่อนหน้านี้ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครไม่ให้กระจายไปยังพื้นที่อื่นๆ เพราะหากไม่สามารถควบคุมได้การแพร่กระจายจะมากขึ้น และภายหลังจบปัญหาโควิด-19 แล้วขอให้รัฐบาลทบทวนมาตรการควบคุมแรงงานต่างด้าวให้มีการขึ้นทะเบียนแบบถูกกฎหมาย และมีการดำเนินการจัดตั้งแคมป์แรงงานที่ถูกลักษณะเช่นเดียวกับสิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ เป็นต้น

สำหรับการส่งออกปี 2564 มีปัจจัยกดดันที่ต้องติดตามหลักๆ 2 ประเด็น ได้แก่ 1. กรณีสมุทรสาครซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหารทะเลส่งออก หากตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงและนำไปสู่การต้องปิดโรงงานจะกระทบการส่งออกและความเชื่อมั่นจะส่งผลให้การส่งออกชะลอตัว และ 2. ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าย่อมกระทบต่อมูลค่าการส่งออกที่ลดลงและยังส่งผลให้ขีดความสามารถทางการแข่งขันลดตามไปด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น