ส.อ.ท.มองการแพร่ระบาดโควิด-19เพราะความหละหลวมมาตรการรัฐจี้เร่งจัดการกระบวนการลักลอบนำเข้าแรงงานต่างด้าวมั่นใจรัฐรับรู้และสามารถตรวจสอบได้ ก่อนวิกฤติจะบานปลาย วอนอย่าล็อคดาวน์ประเทศควรคุมเป็นพื้นที่ ยันโรงงานอุตฯไม่ใช้แรงงานผิดกฏหมายแน่นอนได้ไม่คุ้มเสีย
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ต้องการให้ภาครัฐเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วนเนื่องจากเชื่อว่าปัญหาการลักลอบของแรงงานต่างด้าวรัฐรับรู้และสามารถตรวจสอบได้เพราะมีกระบวนการและเจ้าหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้องในการกระทำผิดกฏหมายครั้งนี้ซึ่งหากปล่อยไว้จะยิ่งสร้างความเสียหายต่อประเทศมากขึ้นจากเบื้องต้นการล็อคดาวน์เฉพาะพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครได้สร้างความเสียหายประมาณกว่า 1,000 ล้านบาทต่อวัน อย่างไรก็ตามต้องการให้รัฐบาลล็อกดาวน์เฉพาะพื้นที่เท่านั้นไม่ควรจะล็อกดาวน์ทั้งประเทศเพราะจะสร้างความเสียหายที่รุนแรงกว่า
" การลักลอบเข้าเมืองของแรงงานต่างด้าวเกิดจากความหละหลวมของมาตรการรัฐบาล และมองว่ามีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องอย่างแน่นอน โดยยืนยันว่าโรงงานที่อยู่ในจังหวัดสมุทรสาครมีประมาณ 6,000 แห่งไม่ได้ใช้แรงงานนอกระบบแน่นอน เพราะโรงงานทั้งหมดเป็นนิติบุคคล สามารถใช้สิทธิในเรื่องของประกันสังคมได้ และหากใช้แรงงานนอกระบบยังมีบทลงโทษและจะส่งออกไม่ได้อีกด้วยจึงไม่คุ้มที่จะทำ"นายสุพันธ์กล่าว
อย่างไรก็ตามภาคเอกชนต้องการให้รัฐจัดเป็นระบบโควตาแรงงานต่างด้าวนำเข้าที่ชัดเจนโดยสำรวจความต้องการจากเอกชนและรัฐไปลงนาม(MOU)กับรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านในการนำแรงงานมาให้สอดรับกับภาคเอกชนที่เป็นแรงงานต่างด้าวที่มีใบอนุญาตแบบถูกกฏหมายซึ่งวิธีนี้จะลดการจ่ายเงินนอกระบบ และยังง่ายในการตรวจสอบย้อนกลับเรื่องต่างๆ ทั้งประวัติบุคคล ด้านสาธารณสุข
ทั้งนี้ส.อ.ท.ได้หารือสภาอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศซึ่งกังวลว่าจะมีการแพร่ระบาดไปยังพื้นที่อื่นๆเป็นวงกว้างจึงขอให้ทุกส่วนเข้มงวดในการดูแลโรงงานและพนักงานโดยระยะเร่งด่วนต้องการให้รัฐสนับสนุนด้านการแพทย์มาสุ่มตรวจตามโรงงานซึ่งบางแห่งเองมีความยินดีที่จะเสียค่าใช้จ่ายบางส่วน และขอความร่วมมือทุกภาคส่วนในการใช้แอพพลิเคชั่น “ไทยชนะ” ภาคบังคับในการเข้าสู่สถานที่ต่างๆ และใช้แอพพลิเคชั่น “หมอชนะ” ที่เป็นภาคสมัครใจในการติดตามตัวบุคคลและผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
" ส.อ.ท. ร่วมกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จัดทำคู่มือป้องกันการระบาดโควิด-19 สำหรับภาคอุตสาหกรรม แบ่งตามลักษณะของอุตสาหกรรม เป็นคู่มืออุตสาหกรรม อาหาร วัตถุดิบเกษตร จักรกล และ อุตสาหกรรมทั่วไป เป็นต้น เพื่อให้นายจ้างและผู้ประกอบการวางแผนเตรียมการป้องกัน และส่งเสริมการปฏิบัติที่ดีในการลดการติดต่อของโรค ป้องกันไม่ให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มและสามารถจัดการผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้อย่างถูกต้อง"นายสุพันธ์กล่าว