xs
xsm
sm
md
lg

กกร.หั่นเป้าศก.ปี’64โตเหลือ1.5-3.5%หากคุมโควิดรอบใหม่ได้ใน3เดือน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กกร.ปรับลดคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจ และส่งออกปี 2564 ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้เดิมช่วงสิ้นปีหลังการกลับมาของโควิด-19รอบใหม่ชี้หากคุมได้ใน 3 เดือนและรัฐใช้งบกระตุ้น 2 แสนล้านบาทศก.โตเหลือ 1.5-3.5% ส่งออกเหลือ 3-5% แต่หากยืดเยื้อกระทบเพิ่ม หวังรัฐเอาอยู่แนะ 4 เรื่องเร่งดูแล

นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ที่ประกอบด้วยสภาหอฯ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)และสมาคมธนาคารไทย
เปิดเผยหลังการประชุมกกร.ประจำเดือนมกราคม 2564 ว่า กกร.ได้มีการประเมินภาพรวมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2564 จะช้าไปจากเดิมที่เคยประมาณการไว้ช่วงธ.ค.63 เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศรอบใหม่ที่หากสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ในระยะเวลา 3 เดือนและมีการใช้งบประมาณเพิ่มเติม 2 แสนล้านบาทในการพยุงเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐบาลคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทย(จีดีพี)ปี 2564 จะขยายตัวได้ในกรอบ 1.5- 3.5% ลดลงจากประมาณการเดิมที่คาดว่าขยายตัวได้ 2 - 4 % ส่งออกคาดว่าจะขยายตัวเพียง 3-5 % จากเดิม 4-6%ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในกรอบ 0.8- 1.0% จากเดิม 0.8-1.2%

“ การแพร่ระบาดโควิด-19 ทั้งไทยและต่างประเทศทำให้เชื่อมั่นผู้บริโภค การท่องเที่ยว ลงทุน ลดลงทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากว่าที่เคยคาด รวมถึงเศรษฐกิจโลกที่จะชะลอตัวช้าลงเนื่องจากหลายประเทศมีการระบาดรอบ 2-3 เพิ่มขึ้นคงจะต้องดูในเรื่องของวัคซีน โดยของไทยสิ่งสำคัญต้องเร่งควบคุมการแพร่ระบาดให้เร็วที่สุดกกร.เองพร้อมทำงานร่วมกับรัฐและต้องติดตามสถานการณ์ในแต่ละเดือนไปและเห็นว่ามาตรการคนละครึ่งควรจะขยายออกไปอีก 3 เดือน”นายกลินทร์กล่าว

สำหรับข้อเสนอกกร.ได้แก่ 1. ต้องเร่งควบคุมการแพร่ระบาดและบังคับใช้มาตรการต่างๆที่ประกาศออกมาอย่างเคร่งครัด ให้ตรงจุด ควบคุมดูแลที่อยู่ของคนงานต่างด้าวให้เหมาะสมเพื่อระงับการแพร่ระบาด และเร่งจับผู้กระทำผิดทั้งบ่อนการพนัน และการนำเข้าแรงงานต่างด้าวอย่างผิดกฎหมาย รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้สินค้าของประเทศว่าปัญหาการแพร่ระบาดส่วนใหญ่มาจากคนสู่คน ไม่ใช่จากอาหารหรือสินค้าสู่คน 

2.ขอให้ภาครัฐเร่งดำเนินการเรื่องงบประมาณช่วยเหลือ 2 แสนล้านบาท โดยให้กำหนดวิธีการให้ชัดเจนปฏิบัติได้เร็วและให้ส่งผลได้อย่างมีประสิทธิภาพเพราะมีความเห็นว่าจะสามารถช่วยพยุงเศรษฐกิจได้ซึ่งอาจเป็นการต่ออายุโครงการคนละครึ่งและเพิ่มงบประมาณการใช้จ่ายต่อบุคคลเป็น 5,000 บาท มาตรลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ เช่น ลดค่าไฟ 5%รวมถึงการใช้เครื่องมือทางการเงินอย่าง Asset Warehousing และ บสย. อย่างมีประสิทธิภาพ 
 
3.เร่งรัดเรื่องวัคซีนให้สามารถได้มาตามกำหนดเวลาและมีปริมาณที่เพียงพอรวมถึงกำหนดวิธีการและหลักเกณฑ์ในการกระจาย การขนส่ง และฉีดวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจัดลำดับผู้ที่ได้รับวัคซีนก่อนหลังอย่างเหมาะสม และ4. เร่งรัดการใช้และการเจรจาการค้าทวิภาคี รวมถึงการให้สัตยาบันลงนามข้อตกลง RCEP ในการประชุมรัฐสภา เพื่อให้ข้อตกลงที่ลงนามไปเมื่อเดือน พ.ย. 63 มีผลบังคับใช้กลางปีนี้ เพื่อให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีแรงส่งเพิ่มในช่วงครึ่งปีหลัง


นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานส.อ.ท.กล่าวว่า การแพร่ระบาดโควิด-19 ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนถึงการเลิกจ้างงาน แต่ยอมรับว่าน่าเป็นห่วงว่าจะมีแนวโน้มตกงานเพิ่มขึ้นซึ่งขึ้นอยู่กับว่าปัญหานี้จะยืดเยื้อมากน้อยเพียงใด โดยรัฐบาลเองก็ได้พยายามเข้ามาช่วยเรื่องของสภาพคล่องของธุรกิจและการปรับโครงสร้างหนี้ทางธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ก็ให้แต่ละสถาบันการเงินเจรจากับลูกหนี้ได้ในปี 2564 ต่อเนื่อง 

“ ตอนนี้กังวลมีแรงงานต่างด้าวติดเชื้อในหลายโรงงาน ซึ่งโรงงานต่างๆก็มีมาตรการเข้มข้น ทำความร่วมมือกับรัฐในการตรวจเชื้อ บางแห่งเริ่มใช้งบตัวเอง มาตรการเข้มงวดอาหาร ต้องผ่าน GMP ระบบควบคุมหลายเรื่องผู้บริโภคจึงอย่ากังวลเพราะเชื้อติดจากคนสู่คน อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องเร่งแก้ไขคือการควบคุมการแพร่ระบาดโดยเฉพาะจากแรงงานต่างด้าว”นายสุพันธุ์กล่าว
สำหรับการส่งออกคาดว่าไตรมาสแรกปีนี้มีโอกาสติดลบเนื่องจากจีนมีเรื่องวันหยุดตรุษจีนที่จะทำให้การสั่งซื้อสินค้าลดลงแล้ว ไทยยังมีปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่คาดว่าจะคลี่คลายในไตรมาส 2-3 เช่นเดียวกับวัคซีนที่คาดว่าจะมาช่วงกลางปีนี้สถานการณ์ต่างๆจึงจะทยอยคลี่คลาย

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า อยากเน้นว่าปัญหาอยู่ตรงไหนก็ต้องแก้ให้ตรงจุดมาตรการที่ออกมาจะต้องไม่เหมาเข่ง เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจขับเคลื่อนไปได้ กรณีการทำธุรกิจที่อาจจะไม่สะดวกจากผลกระทบโควิด-19นั้นทางธปท.ยังคงเดินหน้าให้แต่ละธนาคารปรับโครงสร้างหนี้ได้ต่อเนื่องตลอดปี 64 และอาจจะมีมาตรการเพิ่มเติมที่กำลังพิจารณาตามความจำเป็น
กำลังโหลดความคิดเห็น