“ปลัดพาณิชย์” สั่งการพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ ตรวจสอบสถานการณ์การจำหน่ายหน้ากากอนามัย เผยล่าสุดตรวจแล้ว 573 ราย พบขายในราคาควบคุม ยกเว้นสินค้านำเข้า ยันมีเพียงพอ ไม่ต้องตื่นกักตุน และสามารถใช้หน้ากากทางเลือกแทนได้ เตือนผู้ค้าอย่าเอาเปรียบ จับได้เล่นงานตามกฎหมายหนัก ส่วนผลตรวจที่ชลบุรี ไม่พบร้านขายแพง ที่สมุครสาคร สินค้ามีพอ แต่คนซื้อเพิ่มขึ้น ล่าสุด พบผิด 1 ราย สั่งดำเนินคดีแล้ว
นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ ออกตรวจสอบสถานการณ์การจำหน่ายหน้ากากอนามัยทางการแพทย์อย่างใกล้ชิด ตามข้อสั่งการของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ภายหลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ใน จ.สมุทรสาคร และจังหวัดอื่นๆ โดยให้ตรวจสอบว่าผู้ค้ามีการปฏิบัติที่ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 หรือไม่ ทั้งในเรื่องของการปิดป้ายแสดงราคา การจำหน่ายในราคาสูงเกินกว่าที่กำหนด ขายเกินราคา และปฏิเสธการขาย
โดยล่าสุด ได้รับรายงานว่า ตั้งแต่เกิดการระบาดใหม่จนถึงวันที่ 22 ธ.ค. 2563 ได้มีการตรวจสอบร้านขายยา ร้านค้าทั่วไป ห้างสรรพสินค้า และร้านสะดวกซื้อ รวม 573 ราย พบว่า ยังมีการจำหน่ายหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ไม่เกินราคาควบคุมที่ชิ้นละ 2.50 บาท โดยราคาขายแบบกล่อง (50 ชิ้น) อยู่ที่กล่องละ 50-125 บาท หรือเฉลี่ยชิ้นละ 1.00-2.50 บาท ขึ้นอยู่กับยี่ห้อ และคุณภาพของสินค้า
นอกจากนี้ ไม่พบการกักตุน หรือปฏิเสธการจำหน่าย แต่ปริมาณการซื้อของประชาชนเพิ่มขึ้นมาก ทำให้บางร้านมีสินค้าไม่เพียงพอ เพราะช่วงก่อนหน้านี้ ประชาชนซื้อน้อยลง ทำให้ร้านไม่ได้สต๊อกสินค้าเอาไว้ แต่ได้สั่งสินค้าจากโรงงานผู้ผลิตแล้ว ส่วนหน้ากากอนามัยที่นำเข้าจากต่างประเทศ อาจขายสูงเกินกว่าราคาควบคุม เพราะผู้นำเข้าต้องมีค่าใช้จ่ายต่างๆ จากการนำเข้า โดยกระทรวงพาณิชย์อนุญาตให้ตั้งราคาขายโดยบวกค่าใช้จ่ายต่างๆ เพิ่มได้ไม่เกิน 60% ของราคานำเข้า
“หน้ากากอนามัยทางการแพทย์มีเพียงพอกับความต้องการใช้ของบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง โดยล่าสุด มีโรงงานผลิตเพิ่มเป็น 30 แห่ง กำลังการผลิตวันละ 5 ล้านชิ้น จากในช่วงแรกๆ มี 9 แห่ง ผลิตได้วันละ 1.2 ล้านชิ้น ส่วนประชาชนทั่วไป ก็มีจำหน่ายตามช่องทางต่างๆ ขออย่าตื่นตระหนกและซื้อครั้งละจำนวนมาก เพราะสินค้าผลิตเข้ามาต่อเนื่อง และยังมีหน้ากากทางเลือก อย่างหน้ากากผ้า ที่จะใช้ได้” นายบุณยฤทธิ์ กล่าว
นายบุณยฤทธิ์ กล่าวว่า หากประชาชนพบเห็นผู้มีพฤติกรรมเอาเปรียบ ให้แจ้งสายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ โดยต้องระบุรายละเอียดที่อยู่ ร้านค้า ให้ชัดเจน จะส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบทันที หากพบผิดจริง จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด โดยการขายสินค้าเกินราคาควบคุม มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ, ขายสินค้าราคาแพงเกินควร และปฏิเสธการขาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และไม่ปิดป้ายแสดงราคา มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
“ขอฝากถึงผู้ค้า อย่าเอาเปรียบประชาชน เพราะกระทรวงพาณิชย์เอาจริง โดยการจับกุมดำเนินคดีผู้ค้าหน้ากากอนามัยที่กระทำผิดในช่วงก่อนหน้านี้ จำนวน 435 ราย มี 2 รายที่คดีถึงที่สุดแล้ว ได้แก่ จ.บึงกาฬ ขายแพงเกินสมควร ศาลสั่งจำคุก 1 ปี แต่รอลงอาญา และปรับ 50,000 บาท อีกรายที่เพชรบูรณ์ จงใจขายแพง และปฏิเสธการขาย ศาลสั่งจำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา และปรับอีก 5,000 บาท ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาล” นายบุณยฤทธิ์ กล่าว
ส่วนการตรวจสอบที่ จ.ชลบุรี ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อโซเชียล ว่า มีร้านค้าแถวบางแสน ขายหน้ากากอนามัยกล่องละ 300 บาท สำนักงานพาณิชย์จังหวัดชลบุรี ได้ออกตรวจสอบร้านค้าแถวบางแสน และบริเวณใกล้เคียงรวม 10 ร้าน ได้แก่ ร้านดีฟาร์มาซี ร้านฟาซิโน ร้าน WHC วังยาเอลแคร์ ร้านบ้านยาบูรพา ร้านยาหยีเภสัช ร้านเฮลท์ อัพ สาขาห้างแหลมทอง ร้านบูทส์ สาขาห้างแหลมทอง ร้านวัตสัน สาขาห้างแหลมทอง ร้านบริบาลเภสัช และร้านคลังยา 51 พบว่า ร้านค้ายังขายหน้ากากอนามัยไม่เกินราคาควบคุม ส่วนใหญ่ราคาอยู่ที่กล่องละ 50-120 บาท และไม่พบร้านใด ขายเกินราคาอย่างที่เป็นข่าว และที่ จ.สมุทรสาคร ที่มีปัญหาการระบาด ผลการตรวจสอบพบว่า สินค้ามีเพียงพอ ไม่พบขายเกินราคา แต่ประชาชนซื้อเพิ่มขึ้นเท่าตัว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุด พบผู้กระทำผิด 1 รายที่ จ.ตรัง โดยผู้ค้าไม่ปิดป้ายแสดงราคาขาย และขายราคาชิ้นละ 10 บาท สูงกว่าราคาควบคุม เจ้าหน้าที่ได้เปรียบเทียบปรับ และส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีแล้ว