xs
xsm
sm
md
lg

“คมนาคม” จับมือ MLIT วางกรอบพัฒนาเชิงพาณิชย์พื้นที่ “บางซื่อ”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คมนาคม-รฟท.เซ็นเอ็มโอยู “MLIT” พร้อมดึง UR องค์กรมืออาชีพจากญี่ปุ่น ร่วมวางกรอบพัฒนาเชิงพาณิชย์ ปั้น “บางซื่อ” เมืองอัจฉริยะ

วันนี้ (15 ธ.ค.) นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นายปัญญา ชูพานิช รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และนายโนมุระ มาซาฟูมิ ผู้ช่วยรัฐมนตรี ด้านที่ดิน การพัฒนาพื้นที่ฮอกไกโดและกิจการระหว่างประเทศ กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (MLIT) นายนากาจิมา มาซาฮิโระ ผู้อำนวยการองค์การพัฒนาและฟื้นฟูเมืองของญี่ปุ่น (UR) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการบางซื่อ ระหว่างกระทรวงคมนาคม รฟท. กับ MLIT และ UR ผ่านระบบทางไกล

บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ นี้มีเป้าหมายเพื่อผลักดันการพัฒนาโครงการเมืองอัจฉริยะพื้นที่บริเวณบางซื่อ จากการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์การดำเนินงานที่จะช่วยเสนอแนะแนวทางและข้อมูลของฝ่ายญี่ปุ่นที่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายไทย ทั้งในด้านข้อกำหนดและรายละเอียดการพัฒนาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและสนับสนุนการวางแนวทางการคัดเลือกเอกชนที่มีศักยภาพให้แก่โครงการเมืองอัจฉริยะในพื้นที่บางซื่อ เพื่อให้สอดประสานกับภารกิจการจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อบริหารทรัพย์สินของ รฟท. (Asset Management Company : AMC) ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ให้ความเห็นชอบในหลักการเมื่อเดือนกันยายน 2563 ที่ผ่านมา รวมถึงการรองรับการเปิดใช้งานสถานีกลางบางซื่อ และโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ในปี 2564 ต่อไป

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม และ รฟท.ได้มีความร่วมมือกับรัฐบาลญี่ปุ่น ผ่านองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) จัดทำแผนการพัฒนาพื้นที่บริเวณบางซื่อมายกระดับเป็นแผนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะพื้นที่บริเวณบางซื่อ (Bang Sue Smart City) ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อปี 2563

ด้านกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (MLIT) จะให้ข้อมูลในด้านนโยบายการพัฒนาเมือง กฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องของญี่ปุ่นในการดำเนินการพัฒนาเมืองของญี่ปุ่นที่ผ่านมา ขณะที่องค์กรพัฒนาและฟื้นฟูเมืองของญี่ปุ่น (UR) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของญี่ปุ่น มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาเมืองและพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟและรถไฟฟ้า จะให้ข้อมูลที่เป็นตัวอย่างในการพัฒนาเมืองของญี่ปุ่น และการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) รวมถึงวิธีการดำเนินโครงการ แก่กระทรวงคมนาคมและ รฟท.เพื่อเป็นข้อแนะนำในการพัฒนาพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ

ความร่วมมือในบันทึกข้อตกลงนี้มีระยะเวลา 2 ปี และต่ออายุโดยอัตโนมัติอีก 2 ปี อย่างต่อเนื่องจนกว่าผู้ลงนามฝ่ายใดจะแจ้งไม่ต่ออายุบันทึกข้อตกลง






กำลังโหลดความคิดเห็น