นายกฯ นำ ครม.ชมสถานีกลางบางซื่อ ย้ำรัฐบาลทำเพื่อ ปชช. ลดแออัดบนถนน ส่งเสริมระบบรางเป็นการเดินทางหลัก ฝันขยายถึงยุโรปตะวันออก ทดลองสายสีแดงไปรังสิต “ศักดิ์สยาม” ย้ำเป็นศูนย์กลางคมนาคม-ธุรกิจอาเซียน รฟท.คาดปีหน้าเปิดใช้งาน
วันนี้ (15 ธ.ค.) เมื่อเวลา 13.50 น. ที่สถานีกลางบางซื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม พร้อมคณะรัฐมนตรี และคณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่เยี่ยมชมสถานีกลางบางซื่อ พร้อมรับฟังแผนการพัฒนาที่ดินบริเวณรอบสถานีกลางบางซื่อ และทดลองเดินขบวนรถไฟฟ้าสายสีแดง ระหว่างสถานีกลางบางซื่อ-สถานีรังสิต โดยมีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ให้การต้อนรับและนำเยี่ยมชมโครงการฯ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยินดีที่ได้นำคณะรัฐมนตรีเยี่ยมชมสถานีกลางบางซื่อ รวมถึงทดลองรถไฟฟ้าสายสีแดงที่จะช่วยลดการแออัดบนท้องถนน เพิ่มความสะดวกและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ทั้ง กทม. ปริมณฑล และจังหวัดอื่นๆ โดยมี กทม.เป็นศูนย์กลาง รัฐบาลคิดทำอะไรก็ตามเพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุดตามที่ได้วางยุทธศาสตร์ชาติไว้ในด้านคมนาคม ทั้งถนน น้ำ อากาศ ที่สำคัญรัฐบาลส่งเสริมการเดินทางในระบบรางให้เป็นการเดินทางหลักของประเทศ ทั้งรถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งในอนุภูมิภาคและภูมิภาค และเพื่อพัฒนาต่อไปในอนาคต และในระยะยาวต่อไปอาจจะขยายไปถึงยุโรปตะวันออก และนอกจากพัฒนาเส้นทางแล้วก็ต้องพัฒนารายได้ของประชาชนให้สามารถใช้บริการได้ ก็ต้องไปดูว่าจะทำอย่างไร
จากนั้นนายศักดิ์สยามได้มอบนาฬิกาหมายเลข 9 เป็นที่ระลึกให้นายกฯ โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า นาฬิกาทุกเรือนต้องเดินไปข้างหน้า เหมือนกับรัฐบาลที่ดำเนินนโยบายให้ประเทศเดินไปข้างหน้า
ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ตามที่ทางรัฐบาลได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนที่มีประสิทธิภาพ และแก้ไขปัญหาด้านการจราจร โดยการเชื่อมโยงระบบคมนาคมขนส่งให้มีความต่อเนื่องกันทั้งระบบ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีศูนย์กลางการคมนาคมที่จะเชื่อมต่อการเดินทางจากใจกลางกรุงเทพมหานครสู่ปริมณฑล รวมถึงเชื่อมโยงต่อไปยังทุกภูมิภาคทั่วประเทศ สถานีกลางบางซื่อแห่งนี้จะเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและการขนส่งทางรางที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ และมีมาตรฐานเทียบเท่าสถานีรถไฟชั้นนำของโลก ในการออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารและทุกคนตามหลักอารยสถาปัตย์ สามารถเปลี่ยนถ่ายการเดินทางจากระบบราง ทั้งรถไฟทางไกล รถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้าเชื่อมสนามบิน และยังเชื่อมต่อการเดินทางของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตเมือง และระบบขนส่งรูปแบบอื่นๆ เช่น รถสาธารณะ รถโดยสารประจำทาง รถโดยสาร บขส. รถแท๊กชี่ ได้ครบครัน รวมถึงการพัฒนาพื้นที่โดยรอบ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้การรถไฟฯ จัดทำแผนพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีกลางบางซื่อควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบราง เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการเดินทางและธุรกิจแห่งภูมิภาคอาเซียน ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มและพัฒนาเมืองในรูปแบบใหม่ เพื่อให้เกิดการกระตุ้นและขยายธุรกิจและเศรษฐกิจในพื้นที ส่งเสริมให้เกิดการกระจายโอกาสในด้านต่าง ๆ สู่ประชาชน ทั้งในด้านของการสร้างงาน สร้างอาชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิต ซึ่งเป็นเป้าหมายที่กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการในการมุ่งพัฒนาประเทศอย่างบูรณาการ
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันงานก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ ศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟชานเมือง และงานก่อสถานีรถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน จำนวน 13 สถานี และงานก่อสร้างถนนเลียบทางรถไฟ ดำเนินการก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จ คงเหลืองานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมจัดหาตู้รถไฟฟ้าสำหรับช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ประกอบด้วย งานระบบราง ระบบควบคุมการเดินรถและระบบอาณัติสัญญาณ ระบบโทรคมนาคม ระบบจำหน่ายตั๋วโดยสาร อุปกรณ์สำหรับศูนย์ซ่อมบำรุง ระบบรักษาความปลอดภัย สถานีไฟฟ้าย่อยและหม้อแปลงไฟฟ้า ระบบขับเคลื่อนรถไฟฟ้า และระบบอื่นๆ งานจัดหาตู้รถไฟฟ้ารวมถึงการจัดเตรียมอบรมบุคลากรในการบริหารและซ่อมบำรุงระบบรถไฟฟ้า มีความก้าวหน้าร้อยละ 89.10 โดยคาดว่าจะทดสอบการเดินรถเสมือนจริง แล้วเสร็จเดือนมีนาคม 2564 จากนั้นจึงจะเปิดให้ประชาชนได้ทดลองใช้บริการ ในเดือนกรกฎาคม 2564 และเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ในเดือนพฤศจิกายน 2564
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนั้นนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเยี่ยมชมสถานีกลางบางซื่อ ภายในสถานีประกอบด้วย อาคารทั้งหมด 3 ชั้น คือ ชั้นที่ 1 เป็นพื้นที่จำหน่ายตั๋วโดยสารและจุดเชื่อมต่อการเดินทางด้วยระบบรางในกรุงเทพฯ ชั้นที่ 2 เป็นชั้นชานชาลา ประกอบด้วย รถไฟทางไกล 8 ชานชาลา และรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง 4 ชานชาลา และชั้นที่ 3 เป็นชั้นชานชาลาสำหรับรถไฟเชื่อมท่าอากาศยาน และชานชาลารถไฟความเร็วสูง โดยแบ่งเป็นชานชาลาสำหรับรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน 2 ชานชาลา รถไฟฟ้าความเร็วสูงสายเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 6 ชานชาลา รถไฟฟ้าความเร็วสูงสายใต้ จำนวน 4 ชานชาลา รวมทั้งสิ้น 12 ชานชาลา นอกจากนี้ยังมีชั้นใต้ดินซึ่งเป็นพื้นที่จอดรถที่สามารถจอดรถยนต์ได้ถึง 1,624 คัน มีถนนทางเข้าออกสถานีได้หลายทิศทาง เชื่อมต่อกับทางด่วนพิเศษ มีพื้นที่รองรับรถโดยสารประจำทาง และรถแท็กซี่ และยังมีพื้นที่สวนสาธารณะพร้อมบึงน้ำขนาดใหญ่ ด้านการบริหารสถานีในระยะแรก การรถไฟแห่งประเทศไทยจะเป็นผู้บริหารสถานีกลางบางซื่อ และมอบหมายให้บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถไฟชานเมือง สายสีแดง รวมถึงการบริหารสถานีรถไฟสายสีแดง จำนวน 12 สถานี โดยเมื่อโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน เปิดให้บริการแล้วคาดว่าจะมีผู้โดยสารมาใช้บริการประมาณ 86,000 คน-เที่ยว/วัน ซึ่งจะส่งผลให้สถานีกลางบางซื่อกลายเป็นศูนย์กลางการเดินทางด้วยระบบรางแห่งใหม่ของประเทศ รวมทั้งเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีและคณะได้ทดลองเดินทางด้วยรถไฟฟ้าสายสีแดง จากสถานีกลางบางซื่อไปยังสถานีรังสิต เพื่อดูความคืบหน้าของงานก่อสร้าง ซึ่งรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อถึงดอนเมืองเป็นทางรถไฟยกระดับใช้ความเร็วในการเดินทาง 120 กม./ชม. และช่วงดอนเมืองถึงรังสิตซึ่งเป็นทางรถไฟระดับผิวดิน มีรั้วกันสองข้างทางและสร้างถนนยกระดับข้ามทางรถไฟ สามารถใช้ความเร็วในการเดินทางได้ 140 กม./ชม. หลังทดสอบแล้วเสร็จจะสามารถให้บริการแก่ประชาชนในจังหวัดปทุมธานี
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีและคณะ ร่วมรับฟังแผนต่อขยายสายสีแดงในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ในโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยมีนายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ต้อนรับ ทั้งนี้ แผนดังกล่าวคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2565 โดยมีสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้นำเสนอแนวทางการเชื่อมต่อสถานีรถไฟรังสิตกับโครงข่ายต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน อีกทั้งการรถไฟฯ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และการเคหะแห่งชาติ ร่วมกันกำหนดแนวทางการพัฒนาโครงการอาคารเช่าสำหรับ ผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เป็นอาคารพักอาศัยสูง 8 ชั้นจำนวน 2 อาคาร จำนวน 360 ห้อง โดยอยู่ระหว่างสำรวจพื้นที่ และจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ในมิถุนายน 2564 เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อเริ่มก่อสร้าง และให้ประชาชนเข้าพักอาศัยในตุลาคม 2566 อันเป็นการบูรณาการระบบรางควบคู่กับการพัฒนาเมือง ตามแนวนโยบายของรัฐบาลต่อไป