การตลาด - เปิดแผนดับบลิวพี หรือเวิลด์แก๊ส สยายปีกสู่ธุรกิจอาหาร แตกไลน์ธุรกิจเดิม ผนึกเวิลด์ฟู้ด ลุยสมรภูมิรบ ปั้น 4 แบรนด์ออกศึก เล็งต่อยอดอาหารแช่แข็ง อาหารสำเร็จรูปลุยช่องทางค้าปลีก ลดความเสี่ยงพึ่งพิงธุรกิจเดิมอย่างเดียว
ในตลาดอุตสาหกรรมการจำหน่ายก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือแอลพีจี (LPG) ของไทย แน่นอนว่าชื่อของ เวิลด์แก๊ส ของ บริษัท ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ WP ย่อมติดอยู่ในแถวหน้า ปัจจุบัน WP มีส่วนแบ่งตลาดของยอดขาย LPG เป็นอันดับ 3 มีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 18% รองจาก ปตท.ที่มีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 และ บมจ.สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ (SGP) มีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 2 ที่บางครั้งก็สลับกับเวิลด์แก๊สบ้าง
ตลาดดังกล่าวนี้ก็ถือได้ว่ามีการแข่งขันกันค่อนข้างรุนแรงไม่แพ้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ
เวิลด์แก๊สเองก็เป็นกลุ่มที่มีธุรกิจทางด้านก๊าซปิโตรเลียมแทบจะครบวงจรก็ว่าได้ เพราะมีกระบวนการธุรกิจตั้งแต่ โรงแยกก๊าซ โรงกลั่น โรงปิโตรเคมี มีคลังเก็บก๊าซ มีรถบรรทุกก๊าซ เพื่อป้อนแก่โรงงานอุตสาหกรรม สถานีบริการแอลพีจี โรงบรรจุก๊าซแอลพีจี ที่ส่งให้แก่ร้านค้าก๊าซแอลพีจีสู่ผู้บริโภคครัวเรือน และลูกค้าพาณิชยกรรม
อย่างไรก็ตาม ตลาดรวมของความต้องการใช้แอลพีจีในภาคการขนส่งมีแนวโน้มที่จะลดลงต่อเนื่อง ความต้องการใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เริ่มอิ่มตัว ซึ่งนางสาวชมกมล พุ่มพันธุ์ม่วง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่จำกัด (มหาชน) ยังเคยกล่าวยอมรับด้วยว่า
“ความต้องการใช้แอลพีจีในภาคขนส่งอาจจะมีการใช้ที่ลดลง เพราะว่าผู้บริโภคเริ่มหันกลับมาใช้น้ำมันเพิ่มมากขึ้นเหมือนเดิม ด้วยเหตุผลของราคาน้ำมันที่ก่อนหน้านี้มีการปรับตัวลดลงค่อนข้างมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่คาดว่าคงจะลดลงไม่มากเหมือน 2-3 ปีที่ผ่านมาเช่นกัน”
ขณะที่ในปี 2563 นี้เอง ยอดขายปริมาณแอลพีจีรวมที่เวิลด์แก๊สตั้งเป้าการขายไว้ที่ 800,000 ตันต่อปีนี้ ก็ทำได้ 700,000 ตัน พลาดเป้าไปเกือบ 100,000 ตัน เพราะปริมาณใช้ที่ลดลง ส่วนยอดจำหน่ายปีที่แล้วมีปริมาณ 770,000 ตัน
แต่ก็ต้องไม่ปฏิเสธว่าปัจจัยหนึ่งก็มาจากผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ภาคการใช้ลดลงไปด้วยนั่นเอง
หากดูผลประกอบการโดยรวมปี 2563 แต่ละไตรมาสนี้พบว่า เวิลด์แก๊สมีรายได้รวมในไตรมาสที่ 1 เท่ากับ 3,470 ล้านบาท แต่มีกำไรสุทธิ 41 ล้านบาท, ไตรมาสที่ 2 มีรายได้เหลือ 2,544 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิกลับตกลงมาเหลือเพียง 17 ล้านบาทเท่านั้น ขณะที่ไตรมาสที่ 3 เริ่มกลับมาดีขึ้นมีรายได้รวม 3,061 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิพุ่งมาอยู่ที่ 63 ล้านบาท
ส่วนผลประกอบการโดยรวมทั้งปี 2560 มีรายได้รวมถึง 15,747 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 132 ล้านบาท แต่ปี 2561 รายได้กลับตกลงมาเหลือ 14,978 ล้านบาท แม้ว่ากำไรสุทธิจะเพิ่มป็น 321 ล้านบาท ยิ่งมาปีที่แล้วปี 2562 รายได้รวมยังตกลงมาเหลือ 14,466 ล้านบาท และกำไรสุทธิตกลงเช่นกันเหลือ 289 ล้านบาท
โดยที่ภาพรวมอุตสาหกรรมครึ่งแรกปี 2563 ยอดขายก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) โดยรวมภายในประเทศลดลง 13.3% และยอดขายของกลุ่มบริษัทฯ ลดลง 7%
ทั้งการแข่งขันที่รุนแรง แนวโน้มการใช้แอลพีจีก็ทรงๆ กำไรสุทธิที่แกว่งไปมา ก็เป็นแรงกระตุ้นหนึ่งที่ต้องปรับตัวเองเช่นกัน
นายนพวงศ์ โอมาธิกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ WP ผู้จัดจำหน่ายก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ภายใต้แบรนด์เวิลด์แก๊ส กล่าวว่า ธุรกิจก๊าซในภาพรวมค่อนข้างทรงๆ อยู่แล้ว ยิ่งมาเจอโควิด-19 ระบาดหนักในปีนี้ก็ยิ่งแย่ลงอีก แนวโน้มในอนาคตภาคการขนส่งจะใช้ก๊าซน้อยลง ซึ่งขณะนี้ก็เริ่มเห็นชัดจริงๆ แต่ยังดีที่ยังมีตลาดภาคครัวเรือนเข้ามาช่วยทดแทนได้บ้าง
ที่ผ่านมาสัดส่วนการขายแอลพีจี สัดส่วนมากที่สุดคือภาคหุงต้ม และธุรกิจประมาณ 40% ภาคยานยนต์สัดส่วน 40% และเป็นภาคที่ประเมินแล้วว่าน่าจะลดลงมากเหลือเพียง 20% ส่วนภาคอุตสาหกรรมสัดส่วน 10%
แต่เวิลด์แก๊สก็ไม่นิ่งนอนใจ แม้ว่าจะอยู่ในภาคพลังงานมานานก็ตาม
“เราก็มามองตัวเราว่า ทำพลังงานมานาน เราจะไม่ทำอะไรอย่างอื่นบ้างเลยหรือ อะไรที่ต่อเนื่องกับอาหารก็น่าจะมีโอกาสทำได้อีกมาก เพราะว่าตลาดแอลพีจีก็ทรงๆ สร้างกำไรให้เท่านี้ก็คงไม่มากไปกว่านี้แล้ว เงินสำรองที่เรามีอยู่ก็น่าจะทำอะไรได้มากกว่าเพื่อให้เกิดประโยชน์ อีกทั้งที่ผ่านมาเราก็ลดค่าใช้จ่ายลงต่อเนื่องลงจนไม่มีอะไรจะลดลงอีกแล้ว เราก็มาดูธุรกิจอาหารที่เราเองก็เป็นผู้ซัปพลายก๊าซให้แก่ร้านค้ามากมายและเราก็รู้จักกับทางเชฟ แอนดี้ ยัง ซึ่งเป็นเชฟมิชลินสตาร์ด้วย จึงได้แนวคิดที่จะทำอาหาร จึงได้จับมือร่วมกัน”
โดยเวิลด์แก๊สได้ร่วมมือลงทุนกับทางเชฟ แอนดี้ ในบริษัท วันเดอร์ ฟู้ด อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่จะเป็นหัวหอกหลักในการลุยธุรกิจอาหารจากนี้อย่างจริงจัง
นางสาวชมกมล พุ่มพันธุ์ม่วง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การที่เราเข้ามาสู่ธุรกิจอาหารเป็นการต่อยอดจากธุรกิจเดิมก็ว่าได้ที่เราจำหน่ายก๊าซ และที่สำคัญคือ เป็นการดีเวอร์ซิฟาย (Diversify) ในสิ่งที่มีความเกี่ยวเนื่องและเกี่ยวข้องอยู่แล้ว เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงกับการพึ่งพาพึ่งพิงรายได้จากธุรกิจเพียงอย่างเดียว และเราเองก็มีศักยภาพที่จะทำได้ ด้วยการร่วมมือกับผู้ที่อยู่ในตลาดนี้อยู่แล้ว และเทรนด์ธุรกิจทั่วโลกขณะนี้ส่วนใหญ่ก็จะขยายธุรกิจอื่นเพื่อไม่ให้พึ่งธุรกิจหลักอย่างเดียว
ที่สำคัญที่ทำให้เวิลด์แก๊สสนใจธุรกิจอาหารก็เพราะธุรกิจอาหารนี้สามารถสร้างผลตอบแทนการลงทุนได้มากถึง 20% มากกว่าธุรกิจพลังงานเดิมที่มีเพียงแค่ 10-12% เท่านั้นเอง
ถึงขนาดที่ทำให้ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่เชื่อมั่นว่า วันเดอร์ฟู้ดจะสามารถสร้างผลกำไรได้ปีละกว่า 10% ของกำไรรวมของบริษัทฯ และสร้างการเติบโตได้ตามเป้าหมายที่บริษัทวางไว้ด้วยสัดส่วนของกำไร 40% ที่มาจากธุรกิจอาหารของบริษัทภายใน 5 ปีได้อย่างแน่นอน
เมื่อธุรกิจมีหลากหลาย แต่การที่ปักธงลงในสนามอาหารนี้เป็นเพราะดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ มองถึงเทรนด์ที่เกิดขึ้นว่า
1. อาหารยังเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องรับประทานขาดไม่ได้ และอาหารไทยก็ยังเป็นที่นิยมอยู่ตลอด ประกอบกับเชฟผู้ร่วมทุนมีฝีมือในการทำอาหารได้ดี
2. แนวโน้มในการเติบโตของร้านอาหารจะต้องเป็นร้านแบบเฉพาะทางมากขึ้นหรือสเปเชียลตี้ฟ้ดไปในแบบใดแบบหนึ่ง โดยเป็นเมนูหลักเมนูเด่น เช่น ผัดไทย ข้าวซอย ราดหน้า เป็นต้น
3. มีความร่วมมือกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับอาหารหลายอย่างก่อนหน้านี้กับเชฟผู้ร่วมทุนจึงทำให้มองว่าอาหารยังทำการตลาดได้กับธุรกิจอื่นอีกมาก
4. เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ระบาดตั้งแต่ต้นปีนี้มาส่งผลกระทบอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อเกิดการล็อกดาวน์ สถานบริการทุกอย่างทุกแห่งต้องปิดตัวลง ทำธุรกิจไม่ได้ แต่อาหารยังขายได้เพียงแต่ต้องปรับตัวมาทำดีลิเวอรีแทน
5. การทำธุรกิจแบบรักษ์โลก ซึ่งเราเองก็ต้องทำธุรกิจอาหารให้แบบซีโรเวสต์มากที่สุด
“เรายังคงมองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ทั้งด้านสินค้า บริการ รวมถึงรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ที่สามารถนำมาพัฒนาและยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยให้ดียิ่งขึ้น นี่จึงเป็นที่มาให้เราต่อยอดจากธุรกิจก๊าซแอลพีจีซึ่งเป็นธุรกิจหลักของเราในปัจจุบัน และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับก๊าซแอลพีจี ขยายโอกาสมาสู่การทำธุรกิจอื่นๆ อย่างธุรกิจอาหารซึ่งเป็นการสร้างรายได้จากช่องทางใหม่ๆ และกระจายความเสี่ยง” นางสาวชมกมลกล่าว
ในปี 2563 นี้ได้ใช้งบลงทุนไปประมาณ 30-40 ล้านบาทในช่วงเริ่มต้น เรียกว่าเป็นการสร้างรากฐานก่อน โดยธุรกิจร้านอาหารที่มีอยู่ขณะนี้ คือ
1. แบรนด์ระดับมิชลินสตาร์อย่าง “Table38” เปิดดำเนินการที่ศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ซึ่งย้ายมาจากสุขุมวิท 38 เป็นอาหารไฮเอนด์ไฟน์ไดนิ่ง และยังเป็นเหมือนห้องแล็บอาหารในการทดลองสร้างสรรค์วิทยาการเมนูใหม่ๆ
2. แบรนด์ร้านอาหารอีสานสไตล์ฟิวชัน “Pi Kun (ปีกุน)” นำเสนอเมนูอาหารอีสานรับประทานง่ายในรูปแบบของทาปาสพอดีคำในสไตล์สแปนิช อยู่ที่สยามดิสคัฟเวอรี่เซ็นเตอร์
3. สตรีทฟูดแบรนด์ “ผัดไทยไฟทะลุ” มีสาขาที่ตึกมหานคร และจะเปิดปลายปีนี้อีกที่สยามสแควร์ การร่วมมือกับคลาวด์คิตเชนของไลน์แมนที่ถนนบรรทัดทอง และสาขาป็อปอัพที่สยามดิสคัฟเวอรี่เซ็นเตอร์
4. สตรีทฟูดแบรนด์ข้าวซอยกระต่ายหิว ฮังกรี แรบบิท (HungryRabbit) มีสาขาที่สยามสแควร์จะเปิดปลายเดือนธันวาคมนี้
ทั้งนี้ วันเดอร์ฟู้ดจะมุ่งเน้นเจาะกลุ่มลูกค้ารุ่นใหม่ระดับกลางขึ้นไปที่มีความสนใจและชื่นชอบในการเปิดรับประสบการณ์ใหม่ๆ ในการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ปรุงด้วยวัตถุดิบที่สดใหม่และกรรมวิธีที่มีคุณภาพ จากฝีมือของเชฟมิชลินสตาร์ ในราคาที่สมเหตุสมผล
“นอกจากนี้ วันเดอร์ฟู้ดยังวางแผนรองรับธุรกิจดีลิเวอรี ซึ่งเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในปัจจุบัน โดยจะมีการเปิดสาขาเพื่อรองรับธุรกิจดีลิเวอรีโดยเฉพาะ ซึ่งบริษัทฯ ยังได้เตรียมงบประมาณไว้ราว 50 ล้านบาท สำหรับแผนการต่อยอดธุรกิจไปยังธุรกิจอื่นๆ หลังจากแบรนด์ติดตลาดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการรับจัดเลี้ยง ธุรกิจการผลิตและส่งวัตถุดิบ รวมถึงอาหารสำเร็จรูปให้แก่กลุ่มลูกค้าองค์กร เช่น โรงแรมและสายการบิน รวมถึงการเปิดแฟรนไชส์ของธุรกิจแต่ละแบรนด์ในเครือไปยังต่างจังหวัด และต่างประเทศ ฯลฯ” นายนพวงศ์กล่าว
นายนพวงศ์กล่าวถึงแผนงานธุรกิจอาหารในปี 2564 ว่า ได้วางกลยุทธ์และเตรียมงบประมาณการลงทุนไว้ที่ 50 ล้านบาทโดยรวม เพื่อ
1. การขยายธุรกิจในแบรนด์เดิมเป็นหลักก่อน
2. การขยายธุรกิจอาหารไปในส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นการต่อยอด เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อการค้าปลีก เช่น การทำอาหารแช่แข็ง อาหารกึ่งสำเร็จรูป จำหน่ายในช่องทางค้าปลีก หรือการบริการรับจัดเลี้ยงแคเทอริ่ง เป็นต้น
3. การพัฒนาร้านอาหารแบรนด์ใหม่ๆ ซึ่งอาจจะมีทั้งการพัฒนาสร้างขี้นมาเอง กับการเข้าไปร่วมทุน หรือซื้อกิจการ โดยแบรนด์ใหม่ต่อไปคือร้าน “เส้นใหญ่สะท้านฟ้า” เป็นเมนูเกี่ยวกับผัดซีอิ๊วและราดหน้า และมีแผนที่จะสร้างแบรนด์อีก เช่น วันเดอร์พิก วันเดอร์ชิคเก้น วันเดอร์มีท เป็นต้น
4. การเจรจาและร่วมมือกับพันธมิตรที่หลากหลายในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับทำธุรกิจ รวมไปถึงการขายแฟรนไชส์ด้วย
ขณะที่งบลงทุนรวมในปี 2564 บริษัทฯ ตั้งงบลงทุน 400-500 ล้านบาท เพื่อการขยายจุดกระจายสินค้าและการลงทุนทำถังก๊าซหุงต้ม และซ่อมบำรุง รวมทั้งสำรองไว้ลงทุนเพิ่มเติมในการเข้าซื้อธุรกิจผลิตและซ่อมถังก๊าซหุงต้ม ที่คาดว่าจะชัดเจนในเดือนธันวาคมนี้ และอีก 50 ล้านบาทเพื่อใช้ในการขยายธุรกิจอาหาร
เป้าหมายในปีหน้าที่ทำธุุรกิจเต็มที่เป็นปีแรก เวิลด์แก๊สคาดหวังว่าจะมีรายได้จากธุรกิจอาหารประมาณ 100 ล้านบาท
เชฟ แอนดี้ ยังเอกสกุล กล่าวว่า วันเดอร์ฟู้ดคือบริษัทด้านอาหารที่เกิดขึ้นจากการแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญระหว่างบริษัท ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ที่มีความเชี่ยวชาญในการบริหารธุรกิจและเงินทุน กับบริษัท วันเดอร์ฟู้ด อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่มีความเชี่ยวชาญทั้งด้านการประกอบธุรกิจในด้านอาหารทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ตั้งแต่ไฮเปอร์ ไฟน์ไดนิ่งระดับมิชลินสตาร์ จนถึงสตรีทฟูด โดย “วันเดอร์ฟู้ด” จะเน้นนำเสนอประสบการณ์ด้านอาหารที่แปลกใหม่ในรูปแบบคาราวานอาหารที่คัดสรรเมนูสตรีทฟูดที่คนไทยมีความคุ้นเคยเป็นอย่างดีภายใต้แบรนด์ใหญ่ของวันเดอร์ฟู้ด โดดเด่นด้วยกรรมวิธีในการคัดสรรวัตถุดิบ และกรรมวิธีในการประกอบอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
“ทุกเมนูและทุกขั้นตอนการผลิตของคาราวานแบรนด์อาหารต่างๆ จากวันเดอร์ฟู้ดจะเน้นการรังสรรค์อาหารที่มีรสชาติจัดจ้านและไม่ใส่ผงชูรส รวมถึงมีการนำนวัตกรรมด้านอาหารมาใช้อย่างการใช้คลื่นเสียงในการปรุงอาหารเพื่อรักษาคุณค่าทางโภชนาการ เป็นต้น นอกจากนี้ ซอสที่ใช้ในการปรุงเมนูต่างๆ ยังถูกคิดค้นขึ้นมาโดยเฉพาะจากวิธีการทางธรรมชาติ เพื่อให้ได้รสชาติที่แปลกใหม่ และดีต่อสุขภาพ โดยเราเชื่อมั่นว่า “วันเดอร์ฟู้ด” เป็นอีกหนึ่งช่องทางให้คนไทยได้เห็นคุณค่าของวัตถุดิบและความเป็นไทย พร้อมทั้งทำให้อาหารสตรีทฟูดของไทยเป็นที่รู้จักในฐานะแม่เหล็กที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาลิ้มลอง กระตุ้นธุรกิจอาหารและการท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืนในอนาคตหากสถานการณ์การเดินทางระหว่างประเทศกลับมาเป็นปกติ” เชฟแอนดี้กล่าว
สนามใหม่ธุรกิจอาหารจึงเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างมากกับการเคลื่อนทัพครั้งใหม่ของ ดับบลิวพี หรือเวิลด์แก๊ส