โครงการดอยตุงของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ณ วันนี้ ยังเป็นบทเรียนและแบบอย่างที่ถูกนำไปเรียนรู้ถึงกลไกการทำวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social enterprise) รูปแบบของกิจการที่แสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่กับการดำเนินธุรกิจ ซึ่งตลอด 30 ปีพิสูจน์แล้วว่ายั่งยืนจริง เพราะทั้งคนทำและคนให้ล้วนได้รับความสุขถ้วนหน้า
ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ยังเป็นโมเดลที่ตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยต่อเชื่อมและสร้างสมดุล ระหว่าง Human Wisdom, Social Well-being, Environmental Wellness ให้เข้ากับ Economic Wealth ได้อย่างลงตัว สอดคล้อง กลมกลืน ขอขยายความว่า ที่นี่ทำงานโดยมีการเชื่อมโยงประสานหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน และโครงการในพระราชดำริ เข้าด้วยกัน หรือ 4 Ps: Public, Private, People & Patronage Model
แทนที่จะพัฒนาธุรกรรมด้านเศรษฐกิจไปสู่กิจกรรมทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ทำกลับกันโดยเริ่มต้นด้วยกิจกรรมทางด้านสิ่งแวดล้อมมาสู่การสร้างความเข้มแข็งทางสังคม ก่อนจะพัฒนาสู่การสร้างความมั่งคั่งทางด้านเศรษฐกิจ อย่างตอนเริ่มต้นที่ไปสนับสนุนให้ชาวเขาเลิกปลูกฝิ่น แล้วเปลี่ยนไปปลูกกาแฟแทน
นั่นเป็นยุคตั้งแต่เริ่มต้น เมื่อ 30 ปีที่แล้ว แต่พอมาถึงยุคนี้ เราก็ยังทำด้วยเสาหลักเดิม 3 อย่าง คือ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพียงแต่เปลี่ยนบริบทในการพูดถึงเพื่อให้คนยุคใหม่เข้าใจและเข้าถึงได้
เดิมเคยพูดด้านเศรษฐกิจเป็นการแก้ปัญหาปากท้อง ก็เปลี่ยนเป็นพูดถึงช่องว่างระหว่างชนชั้น ด้านสิ่งแวดล้อม เดิมเป็นการเปลี่ยนไร่ฝิ่นให้เป็นป่า ก็เปลี่ยนไปพูดถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเกิดขึ้นจากการใช้ทรัพยากรอย่างไม่คุ้มค่า มีวิถีชีวิตที่ฟุ้งเฟ้อ ด้านสังคม เมื่อก่อนพูดด้านปลอดภัย ให้ดูแลตนเองได้ และการสร้างผู้นำท้องถิ่น ก็มาพูดถึงสังคมที่ควรมองมากกว่าในบริบทของตนเอง
“ถามว่าจะทำอย่างไร ถ้าระบบทุนนิยมยังสร้างความเหลื่อมล้ำ ผมขอตอบว่าเราทำให้การทำงานของเราไม่ไปก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ด้วยแนวคิด Profit with purpose หมายถึงการทำธุรกิจให้มีกำไรอย่างมีจุดมุ่งหมาย และ Business with a heart หรือทำธุรกิจด้วยหัวใจ ทุกวันนี้เรามีชุมชนเป็นฐานในการดำเนินธุรกิจ แต่เราพยายามวางรากฐานด้านการศึกษายุคใหม่ให้กับคนในชุมชน ซึ่งมีทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียนเพื่อทำให้เขาปรับตัว เปลี่ยนแปลงอย่างสอดคล้อง และคาดว่าจะร่นระยะห่างในเรื่องของรายได้"
ส่วนด้านธุรกิจเรามีการปรับเปลี่ยนให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ปีนี้เราทำ Green Business ให้มากขึ้น เช่น โรงแรมได้ปรับให้เป็นกรีนบิลดิ้ง มีการปรับไปใช้พลังงานทดแทนโดยนำโซลาร์เซลล์ การลดคาร์บอนฟุตพริ้นต์ในองค์กร ด้วยการเปลี่ยนวิธีการทำงาน ใช้วัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิต เช่น นำเปลือกแมคคาที่เหลือใช้นำมาใช้เป็นพลังงานแทนก๊าซแอลพีจี ในโรงงานเซรามิก หรือการใช้สีย้อมธรรมชาติเพื่อลดมลพิษ นอกจากนี้ มีผลิตภัณฑ์ใหม่จากวัสดุเหลือใช้เป็นเส้นใยจากพลาสติกซี่งเป็นแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นต้น
ล่าสุดทางกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เลือกและพิจารณามอบโล่รางวัลสัญลักษณ์ G Green Production ประเภทเซรามิกระดับดีเยี่ยม และประเภทสิ่งทอระดับดีเยี่ยม ซึ่งรับรองว่าดอยตุงมีการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เพราะเรามีการพัฒนาธุรกิจควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแทรกอยู่ในทุกขั้นตอนการผลิต อย่างงานทอเป็นเส้นใยฝ้ายประหยัดน้ำ หรือ better cotton ซึ่งใช้ทรัพยากรน้ำน้อยกว่าในการเพาะปลูก และเส้นใยเหล่านี้ถูกนำมาย้อมสีด้วยวัตถุดิบท้องถิ่น เช่น คราม, ดอกทองกวาว, หัวหอม, กาแฟ หรือฮ่อม ทั้งยังให้สีที่แตกต่างกันตามแต่ละฤดูกาล จนเกิดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร ก่อนจะถูกถักทอเป็นผ้าบนกี่แบบดั้งเดิมด้วยฝีมือผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน
ผมเชื่อว่า ทุกวันนี้มีหลายคนต้องการอุดหนุนสินค้าคุณภาพดีที่มาจากธุรกิจเพื่อสังคม แต่ด้วยความที่สินค้าดังกล่าวอาจไม่ได้วางขายทั่วไปตามห้างสรรพสินค้า ทำให้การเข้าถึงสินค้าจากธุรกิจเพื่อสังคมเป็นเรื่องยากพอสมควร ถึงแม้ในยุคนี้เราเพิ่มการขายที่สามารถสั่งซื้อทางออนไลน์ได้ แต่สินค้าบางประเภทนั้น ลูกค้าก็ต้องการสัมผัสหรือจับต้องสินค้าโดยตรง เราจึงแก้ปัญหาด้วยการยกทัพสินค้าของธุรกิจเพื่อสังคมไปจำหน่ายถึงอาคารสำนักงานต่างๆ ด้วยรูปแบบ mobile store ผ่านโครงการ Doi Tung Plus, the Social Enterprise Store
โครงการดังกล่าว เกิดจากความตั้งใจจริงของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ที่ต้องการใช้ช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าของดอยตุง ช่วยเหลือธุรกิจเพื่อสังคมรายอื่นๆ จึงออกมาเป็นรูปแบบของการฝากขายสินค้าร่วมกัน ซึ่งสินค้าที่เข้าร่วมโครงการจะต้องมีคุณภาพดี และมีผลกระทบทางสังคมที่ชัดเจน โดยต้องผ่านเกณฑ์การประเมินใน 5 ด้าน ได้แก่ 1.การประเมินผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม 2.ประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ 3.มาตรฐานการดำเนินกิจกรรมภายในบริษัท 4.การจัดการด้านบุคลากรและองค์ความรู้ และ 5.ธรรมาภิบาลในการดำเนินธุรกิจ
ตอนนั้นเราใช้เวลา 1 ปีในการสร้างเกณฑ์รับรอง มีการตรวจสอบอย่างเข้มข้น พิจารณาจากศักยภาพในการสร้างกำไร การตลาด รวมถึงทำ stakeholders review ก่อนจัดอันดับ ranking แล้วได้ 10 ธุรกิจเพื่อสังคมกลุ่มแรกที่จะมาวางจำหน่ายสินค้าร่วมกับเรา ซึ่งดอยตุงมีนโยบายขยายตลาด หรือการจัดจำหน่ายสินค้าไปยังอาคารสำนักงานตามพื้นที่ต่าง ๆ เพราะมองว่าลูกค้ามีความต้องการซื้ออยู่แล้ว หากนำสินค้าที่มีคุณภาพไปเสนอ
“ทั้งหมดนี้ที่เราทำเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า ขนาดธุรกิจของเราที่ไม่ได้ใหญ่โตยังทำได้ เปลี่ยนแปลงได้ แล้วทำไมธุรกิจใหญ่โตอีกมากมายในประเทศไทยจะทำบ้างไม่ได้ หากมีเจตนารมณ์ที่จะทำ” ม.ล.ดิศปนัดดา หรือ คุณดุ๊ก ย้ำทิ้งท้าย