นายกฯ เปิดประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ หนุนเศรษฐกิจและสังคมไทยยุคใหม่ มุ่งขับเคลื่อน 5G ทุกภาคส่วน เตรียมตั้งคณะทำงาน กำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุน จูงใจนักลงทุนไทย-ต่างชาติ
วันนี้ (14 ส.ค.) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันศุกร์ที่ 14 สิงหาคม 2563 ณ ทำเนียบรัฐบาล การประชุมในครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการกำหนดเป้าหมายและแนวทางการขับเคลื่อนต่อยอด 5G ของประเทศไทยในภาคส่วนต่างๆ ที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในประเด็นสำคัญ ได้แก่ เห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการว่าด้วยการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ 5G ของประเทศไทย ระยะที่ 1 เห็นชอบ โครงการนำร่องการใช้ประโยชน์ 5G ของประเทศไทย ในระยะสั้น ในการส่งเสริมเกษตรดิจิทัลและการส่งเสริมโรงพยาบาลอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยี 5G และเห็นชอบ มาตรการส่งเสริมและเพิ่มประสิทธิภาพการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G ในภาคอุตสาหกรรม
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวเพิ่มเติมว่าการประชุมในครั้งนี้ เป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่ได้กำหนดแนวทางการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ 5G อย่างเป็นรูปธรรม ผ่าน (ร่าง) แผนปฏิบัติการว่าด้วยการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ 5G ของประเทศไทย ระยะที่ 1 เพื่อมุ่งสู่การปฏิบัติ ทั้งในด้านของโครงสร้างพื้นฐาน ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านการพัฒนาระบบนิเวศของ 5G เพื่อให้ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม และเต็มประสิทธิภาพ นอกจากนี้ กระทรวงดีอีเอสจะดำเนินการส่งเสริมเศรษฐกิจด้วยการนำร่องเกษตรดิจิทัลด้วยเทคโนโลยี 5G ณ พื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศูนย์ฝึกอบรมผาหมี โดยเป็นความร่วมมือกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ กล่าวเสริมว่า ในขณะนี้โอเปอร์เรเตอร์ต่างๆ ได้เริ่มดำเนินการติดตั้งโครงข่าย 5G แล้วในหลายพื้นที่ ซึ่งในระยะแรก จะเร่งดำเนินการในพื้นที่เป้าหมาย เช่น พื้นที่ในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ พื้นที่เมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ และรวมถึงพื้นที่นำร่องการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยี 5G และคาดว่า จะขยายไปสู่ประชาชนทั่วประเทศภายในปี 2570 โดยในส่วนของโครงการนำร่องการใช้ประโยชน์ 5G นั้น สดช. ร่วมกับ สำนักงาน กสทช. ได้คัดเลือกพื้นที่นำร่องที่เหมาะสม โดยคาดหวังว่าจะสามารถช่วยเหลือประชาชนได้ในวงกว้าง เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ในพื้นที่ ลดปัญหาความยากจน สร้างความเท่าเทียม เพิ่มรายได้ และสร้างอาชีพอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ การนำร่องโครงการเกษตรดิจิทัลด้วยเทคโนโลยี 5G จะเป็นการทดสอบทดลองการใช้คลื่น 5G และประโยชน์ที่จะได้รับว่าเป็นไปตามความคาดหวังหรือไม่
ทั้งนี้ คณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ นั้น จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเทคโนโลยี 5G ของประเทศไทยในทุกภาคส่วน และพร้อมเดินหน้าเพื่อผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยี 5G ให้บรรลุตามทิศทางการพัฒนาที่ได้กำหนดไว้ต่อไป