xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ด 5G แห่งชาติ เคาะตั้งคณะทำงานกำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายกฯ เปิดประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ หนุนเศรษฐกิจและสังคมไทยยุคใหม่ มุ่งขับเคลื่อน 5G ทุกภาคส่วน พร้อมเดินหน้าตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุน หวังดึงนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเข้าไทย

วันนี้ (14 ส.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2563 ซึ่งการประชุมในครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการกำหนดเป้าหมายและแนวทางการขับเคลื่อนต่อยอด 5G ของประเทศไทยในภาคส่วนต่างๆ ที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น 

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในประเด็นสำคัญ ได้แก่ เห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการว่าด้วยการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ 5G ของประเทศไทย ระยะที่ 1 เห็นชอบโครงการนำร่องการใช้ประโยชน์ 5G ของประเทศไทยในระยะสั้น ในการส่งเสริมเกษตรดิจิทัลและการส่งเสริมโรงพยาบาลอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยี 5G และเห็นชอบมาตรการส่งเสริมและเพิ่มประสิทธิภาพการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G ในภาคอุตสาหกรรม

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้เป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่ได้กำหนดแนวทางการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ 5G อย่างเป็นรูปธรรม ผ่าน (ร่าง) แผนปฏิบัติการว่าด้วยการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ 5G ของประเทศไทย ระยะที่ 1 เพื่อมุ่งสู่การปฏิบัติ ทั้งในด้านของโครงสร้างพื้นฐาน ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านการพัฒนาระบบนิเวศของ 5G เพื่อให้ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม และเต็มประสิทธิภาพ

กระทรวงดีอีเอสจะดำเนินการส่งเสริมเศรษฐกิจด้วยการนำร่องเกษตรดิจิทัลโดยใช้เทคโนโลยี 5G ณ พื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศูนย์ฝึกอบรมผาหมี โดยเป็นความร่วมมือกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม นายกฯ ได้เน้นย้ำให้ดำเนินโครงการพร้อมกันทั้งประเทศ โดยเฉพาะเรื่องการเกษตรให้ทำในภาคอื่นพร้อมกันด้วย ประกอบด้วย ภาคใต้สนับสนุนเรื่องยาง ปาล์ม ภาคอีสาน เรื่อง เกษตรแปลงใหม่ และข้าว ภาคกลาง เรื่องสวนผลไม้ เป็นต้น เพื่อให้เทคโนโลยี 5G ขับเคลื่อนไปพร้อมกัน ไม่ให้เกิดความล่าช้า เพราะการพัฒนา 5G ต้องทั่วถึงและเท่าเทียมทั้งประเทศ 

นายพุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมได้ตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุน สำหรับกระตุ้นนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศหันมาลงทุนในไทยแทนประเทศสิงคโปร์ด้วย ภายใต้โจทย์คือ จะทำอย่างไรในการดึงนักลงทุนที่สิงคโปร์กลับมาประเทศไทย

สำหรับคณะทำงานดังกล่าว ประกอบด้วย กระทรวงดีอีเอส กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกิจการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย 

ขณะเดียวกัน ยังได้มอบหมายให้แต่ละกระทรวง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (ททท.) รวมถึงสภาต่างไปที่เป็นตัวแทนภาคเอกชน ไปสรุปความต้องการการใช้งาน 5G ว่ามีอะไรบ้าง เพื่อให้ขับเคลื่อนตรงวัตถุประสงค์ที่ต้องการ  จากนี้ไปกระทรวงดีอีเอสจะเร่งหาข้อสรุปก่อนมีการนัดประชุมใหญ่ครั้งต่อไป

ด้าน นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ กล่าวเสริมว่า ในขณะนี้โอเปอร์เรเตอร์ต่างๆ ได้เริ่มดำเนินการติดตั้งโครงข่าย 5G แล้วในหลายพื้นที่ ซึ่งในระยะแรกจะเร่งดำเนินการในพื้นที่เป้าหมาย เช่น พื้นที่ในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ พื้นที่เมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ และรวมถึงพื้นที่นำร่องการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยี 5G และคาดว่าจะขยายไปสู่ประชาชนทั่วประเทศภายในปี 2570

โดยในส่วนของโครงการนำร่องการใช้ประโยชน์ 5G นั้น สดช. ร่วมกับสำนักงาน กสทช. ได้คัดเลือกพื้นที่นำร่องที่เหมาะสม โดยคาดหวังว่าจะสามารถช่วยเหลือประชาชนได้ในวงกว้าง เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ในพื้นที่ ลดปัญหาความยากจน สร้างความเท่าเทียม เพิ่มรายได้ และสร้างอาชีพอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ การนำร่องโครงการเกษตรดิจิทัลด้วยเทคโนโลยี 5G จะเป็นการทดสอบทดลองการใช้คลื่น 5G และประโยชน์ที่จะได้รับว่าเป็นไปตามความคาดหวังหรือไม่ ทั้งนี้ คณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาตินั้น จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเทคโนโลยี 5G ของประเทศไทยในทุกภาคส่วน และพร้อมเดินหน้าเพื่อผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยี 5G ให้บรรลุตามทิศทางการพัฒนาที่ได้กำหนดไว้ต่อไป








กำลังโหลดความคิดเห็น