กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจับมือสภาเกษตรกรแห่งชาติลงพื้นที่จังหวัดอุดรธานี เดินหน้าโครงการ “เพิ่มศักยภาพเกษตรกรในยุคการค้าเสรี” ตามแผนงานประจำปี 64 เป็นที่แรก เตรียมเชิญเกษตรกรนำสินค้ามาโชว์และให้ผู้เชี่ยวชาญแนะเคล็ดลับการพัฒนาสินค้าให้พร้อมส่งออกด้วยเอฟทีเอ
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ เตรียมนำผู้บริหารกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และสภาเกษตรกรแห่งชาติลงพื้นที่จังหวัดอุดรธานีเป็นจังหวัดแรก ภายใต้โครงการ “การเพิ่มศักยภาพเกษตรกรในยุคการค้าเสรี” ประจำปี 2564 โดยกำหนดจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “ช่องทางรวยของสินค้าเกษตรจากเอฟทีเอ” และ “ทำอย่างไรให้สินค้าเกษตรสู่ตลาดต่างประเทศ” ในวันที่ 8 ธ.ค. 2563 ณ โรงแรมเซ็นทาราและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ อุดรธานี
การสัมมนาครั้งนี้เป็นการให้ข้อมูลและสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 5 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี หนองบัวลำภู หนองคาย เลย และบึงกาฬ ในเรื่องความสำคัญของการค้าเสรี และช่องทางการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีฉบับต่างๆ เพื่อเป็นเครื่องมือขยายการส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปของไทยสู่ตลาดโลก อีกทั้งยังให้ความสำคัญในการพัฒนาสินค้าที่มีศักยภาพในพื้นที่ให้สามารถใช้เอฟทีเอในการส่งออกได้ เช่น ข้าว กล้วยหอมทอง มะม่วงน้ำดอกไม้ ผลิตภัณฑ์ยางพารา ผักออร์แกนิก และผ้าทอพื้นเมือง เป็นต้น
นอกจากนี้ กรมฯ ได้แจ้งให้เกษตรกรที่จะเข้าร่วมงานนำสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมาร่วมแสดงและจำหน่ายภายในงาน เพื่อให้ทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าระหว่างประเทศและการทำตลาดเปิดเวทีวิเคราะห์สินค้าและสรรหาสินค้าในพื้นที่ที่เป็นดาวเด่นเพื่อพัฒนาต่อยอดและขยายตลาดส่งออกโดยใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอมากขึ้น ตลอดจนยกระดับสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปของชุมชนเข้าสู่ตลาดโลก ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจฐานราก
โครงการ “เพิ่มศักยภาพเกษตรกรในยุคการค้าเสรี” เป็นโครงการที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากได้รับผลต้อนรับอย่างดีจึงดำเนินการต่อในปีงบประมาณ 2564 และมีแผนที่จะลงพื้นที่ 5 ครั้ง ได้แก่ อุดรธานี แม่ฮ่องสอน อุบลราชธานี อุตรดิตถ์ และสุราษฎร์ธานี
ทั้งนี้ สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปของไทยยังคงเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของประเทศ โดยในช่วงมกราคม-ตุลาคม 2563 ไทยส่งออกกว่า 17,425 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งในภาพรวมสินค้าเกษตรอาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ชะลอตัว แต่ยังคงมีสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มมากขึ้น เช่น ผลไม้ 3,600 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 13% ไก่สด แช่เย็นแช่แข็ง 762 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 20% ปศุสัตว์ 704 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 107% เป็นต้น