ประชุมรัฐสภา เห็นชอบร่างข้อตกลงEU ตามข้อตกลงGATT 1994 พร้อมด้วยร่างหนังสืออีก 2 ฉบับ “จุรินทร์” แจงร่างความตกลง “ไทย EU และ UK “ดำเนินการตามขั้นตอนกระบวนการ มีนโยบายชัดเจน เพิ่มการทำFTA สมาชิกแนะเร่งเจรจากรอบการค้าเพื่อผลดีศก.
วันนี้ (1ธ.ค.) ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาลงมติให้ความเห็นชอบร่างความตกลงและร่างหนังสือ รวม 3 ฉบับ ดังนี้ ประกอบด้วย ร่างความตกลงระหว่างสหภาพยุโรปกับประเทศไทย ตามมาตรา 28 ของความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า (แกตต์) 1994 ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขข้อผูกพันสำหรับสินค้าที่มีโควตาภาษีในตารางข้อผูกพันของสหภาพยุโรป อันเป็นผลเนื่องมาจากการออกจากสมาชิกภาพสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร ร่างหนังสือจากรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรถึงรัฐบาลแห่งประเทศไทย และร่างหนังสือจากรัฐบาลแห่งประเทศไทยถึงรัฐบาลแห่งสหราชอาณานายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในนามของคณะรัฐมนตรี ชี้แจงเพื่อความเข้าใจของสมาชิกรัฐสภาในวาระการเสนอ ร่างความตกลงและร่างหนังสือเพื่อขอความเห็นชอบจากรัฐสภารวม 3 ฉบับ
โดยในประเด็นแรกที่มีสมาชิกรัฐสภา ตั้งข้อสงสัยต่อการเสนอร่างฯ ดังกล่าวต่อที่ประชุมรัฐสภาในครั้งนี้เป็นเรื่องฉุกละหุก ปัจจุบันทันด่วน เสมือนมัดมือชกให้ต้องลงมติรับหรือไม่นั้นว่า ความจริงเรื่องนี้ได้มีการดำเนินการเร่งรัดในเรื่องการเจรจามาโดยลำดับ ล่าสุดตนในฐานะรัฐมนตรีเศรษฐกิจของไทย ได้นั่งเป็นประธานในการเจรจาข้อตกลง RCEP กับอีก 15 ประเทศ แต่ไม่สามารถหาข้อสรุปในบางเรื่องได้ในเวลาที่รวดเร็ว แม้ว่าเราจะมีความคืบหน้าในข้อเท็จจริงก็ตาม เพราะก่อนที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพคราวที่แล้ว ก็มีเรื่องที่ต้องเจรจาหาข้อยุติให้ได้ 20 เรื่อง และจากที่ดำเนินการมา 8 ปี ทำได้เพียง 7 เรื่อง แต่ปีที่แล้วสามารถหาข้อยุติได้อีก 13 เรื่อง ทำให้ได้ข้อยุติได้ในการประชุมที่ผ่านมา โดยมีการลงนามไปเมื่อวันที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมา เรื่องนี้แม้เป็นเรื่องในวงเล็กกว่าการประชุม RCEP แต่ก็มีรายละเอียดในการเจรจาด้วย เพราะฉะนั้นนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 2562 มาจนถึงระยะเวลานี้ กว่าการเจรจาจะหาข้อยุติได้ทั้งหมดก็ล่วงมาถึงสิ้นเดือน กันยายนที่ผ่านมา ดังนั้นจึงมีเวลาที่เหลือก็คือ หลังจากสิ้นเดือนกันยายนแล้ว ก็ต้องมีการร่างหนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ ระหว่างไทย-EU และ ไทย-UK ซึ่งกว่าจะมีข้อยุติได้ในสิ้นเดือนตุลาคม จากนั้นจึงได้เร่งเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ซึ่งนำมาสู่การพิจารณาในวันนี้ ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของการดำเนินการตามขั้นตอนกระบวนเวลาที่เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะข้อตกลงนี้เราตัดสินใจฝ่ายเดียวไม่ได้ ต้องขึ้นอยู่กับ EU และ UK ด้วย จึงขอให้สมาชิกรัฐสภาได้สบายใจว่า เรื่องนี้ได้มีการเร่งรัดมาตามขั้นตอนกระบวนการ
กรณีที่มีสมาชิกรัฐสภา สอบถามในเรื่องผลไม้ว่าไม่เห็นมีปรากฎในข้อตกลงที่รายงานต่อรัฐสภา ว่าไทยได้โควต้าหรือไม่อย่างไร นายจุรินทร์ ได้ชี้แจงว่า สำหรับอังกฤษ และสหภาพยุโรป ได้แยกเรื่องผลไม้ออกเป็น 2 ส่วน คือผลไม้เมืองหนาว และผลไม้เมืองร้อน สำหรับผลไม้เมืองหนาวนั้นมีโควต้า เช่น องุ่น เลมอน แอปเปิ้ล แพร์ เชอรี่ แอพลิคอต แต่สำหรับผลไม้เมืองร้อนไม่มีโควต้า เพราะว่าการนำเข้าไปไม่มีผลกระทบต่อเกษตรกรในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป แต่สำหรับประเทศไทยมีการส่งออกผลไม้เมืองร้อนไป จึงถือว่าไม่มีโควต้า สามารถส่งออกได้ไม่จำกัด จึงไม่มีปรากฎอยู่ในการเจรจารายละเอียดเรื่องโควต้า
ในส่วนที่สมาชิกรัฐสภาหลายคนมีความเห็นที่ประสงค์จะให้ประเทศไทย ได้ทำข้อตกลงทางการค้า หรือ FTA กับประเทศต่างๆ เพิ่มเติม และควรจะได้มีการเร่งดำเนินการนั้น รองนายกฯ กล่าวชี้แจงว่า รัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์มีนโยบายชัดเจน ที่ต้องการเพิ่มการทำ FTA กับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับ 1. สหภาพยุโรป 2. อังกฤษ เพราะเมื่อแยกตัวออกจาก EU ก็ต้องแยก FTA ออกเป็น 2 ฉบับอย่างเลี่ยงไม่ได้ 3. ยูเรเซีย และ 4. อาเซียน-แคนาดา
โดยความคืบหน้าของการดำเนินการระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปคือ ขณะนี้ผลการศึกษาเสร็จสิ้นแล้ว และลงรายงานอยู่ในเวปไซต์ของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการเตรียมการที่จะเสนอกรอบการเจรจาเข้าสู่ที่ประชุมของคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอน และต่อจากนั้นจะได้ตั้งคณะเจรจา และดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
ส่วน FTA ระหว่างไทย กับสหราชอาณาจักร ยูเรเซีย และอาเซียน-แคนาดา นั้น ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบ หากได้ข้อสรุปแล้วจะได้ดำเนินการตามนโยบายต่อไป
สำหรับกรณี CPTPP ที่มีสมาชิกรัฐสภาได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า กรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร (กมธ.) ได้พิจารณาเสร็จแล้ว และได้ส่งเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้วนั้น ควรจะได้มีการเร่งรัดดำเนินการพิจารณา และขอให้ทำตามข้อสังเกตของ กมธ. ด้วย ซึ่งเรื่องนี้ นายจุรินทร์ กล่าวว่า ตนได้ดูข้อสังเกตของ กมธ. แล้ว โดยมีข้อสังเกตว่า เราจะดำเนินการก็ต่อเมื่อประเทศไทยต้องมีความพร้อม โดยเฉพาะเรื่องยา และพันธุ์พืช เป็นต้น ขณะนี้คณะรัฐมนตรีได้รับผลการศึกษา CPTPP จากสภาผู้แทนราษฎรแล้ว และที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติมอบให้ รองนายกรัฐมนตรี ดอน ปรมัตถ์วินัย เป็นประธานพิจารณาเรื่องนี้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และให้รายงานกลับมายังคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน
ทั้งนี้สำหรับเรื่องที่สมาชิกรัฐสภา ให้ความเห็นต่อเรื่องการส่งออกไปยังสหราชอาณาจักร ซึ่งจะแยกตัวจากสหภาพยุโรปในวันที่ 1 มกราคม 2564 นี้ เกรงว่าเอกชนจะเคว้ง ไม่มีการเตรียมความพร้อมล่วงหน้านั้น รองนายกฯ จุรินทร์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ รวมทั้งตน ได้ประชุมหารือกับภาคเอกชน ทั้งผู้ประกอบการ และผู้ส่งออกมาโดยลำดับอย่างใกล้ชิด ดังนั้นจึงไม่ต้องเป็นกังวลในเรื่องดังกล่าว และเอกชนทราบถึงกระบวนการส่งออกไปยังสหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรปแล้วเป็นอย่างดีทั้งในเรื่องจำนวนโควต้า รวมไปถึงขั้นตอนทางเอกสารด้วย
อย่างไรก็ตามสมาชิกได้อภิปรายเห็นด้วยกับร่างความตกลงจัดสรรปริมาณสินค้าโควตาภาษีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป (EU) กับหนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักร แนะไทยเร่งเจรจากรอบการค้าให้เร็วขึ้น จะเป็นผลดีกับเศรษฐกิจของไทย
นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะสมาชิกรัฐสภา อภิปรายว่า ความตกลงจัดสรรปริมาณสินค้าโควตาภาษีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป (EU) กับหนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักร กระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม การค้าและการลงทุนในระดับกว้าง จึงจำเป็นต้องนำเสนอต่อรัฐสภา เพื่อให้ความเห็นชอบ ซึ่งตนขอสนับสนุนร่างความตกลงและหนังสือแลกเปลี่ยนดังกล่าว โดยมีเหตุผลกล่าวคือ เป็นการรักษาสิทธิประโยชน์ของประเทศไทยไม่ให้ด้อยไปกว่าเดิม ซึ่งแต่เดิมเป็นความตกลงระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป จำนวน 28 ประเทศ และเมื่อสหราชอาณาจักรได้แยกออกมา ทำให้ประเทศไทยได้มีหนังสือแลกเปลี่ยนกับสหราชอาณาจักรต่างหาก เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ไว้ นอกจากนั้น ตามที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงถึงเหตุผลการนำเสนอร่างความตกลงและร่างหนังสือดังกล่าวว่าเป็นการเจรจาภายใน โดยแยกประเภทสินค้าและพิจารณารายละเอียดสินค้าที่ได้ประโยชน์เพิ่มเติม เนื่องจากสินค้าบางประเภทถูกส่งไปยังสหราชอาณาจักรมากกว่าแต่เดิมที่รวมอยู่ในสหภาพยุโรป
นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้ผู้ประกอบการ ซึ่งก่อนการเจรจามีการหารือกับผู้ประกอบการ และผลเป็นไปตามที่ประเทศไทยเสนอ โดยยึดถือสถิติผลการค้าระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปย้อนหลัง 3 ปี เพื่อนำมาประกอบการหารือ โดยหลังจากนี้ ผู้ประกอบการเตรียมวางแผนการส่งออกในวันที่ 1 มกราคา 2564 ขณะเดียวกันเห็นว่าเป็นการรักษามาตรฐานในการเจราจาการค้าระหว่างประเทศ ส่งผลดีต่อการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกับสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร แม้จะมีการแยกตัวออกมาแล้วก็ตาม ซึ่งกรอบการเจรจาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเจรจาการค้าระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร โดยข้อเท็จจริง ประเทศในอาเซียนอย่างเวียดนามและสิงคโปร์ทำการตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรปแล้ว โดยไทยเคยเจรจาทำการค้ามาระยะหนึ่งแต่สะดุดลง จึงอยากเสนอให้ทำอย่างต่อเนื่อง และเร่งเจรจากรอบการค้าระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปให้เร็วขึ้น ควบคู่กับการเจรจากับสหราชอาณาจักร ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจการค้าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นผลดีกับเศรษฐกิจของไทยโดยรวมมากยิ่งขึ้น