xs
xsm
sm
md
lg

สภาผ่านร่างข้อตกลง EU เอื้อศก.ไทย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดำการรายวัน360- รัฐสภาเห็นชอบร่างข้อตกลงEU ตามข้อตกลง GATT 1994 พร้อมด้วยร่างหนังสืออีก 2 ฉบับ "จุรินทร์"แจง ร่างความตกลง "ไทย-EUและ ไทย-UK"ดำเนินการตามขั้นตอน กระบวนการ ยัน พณ.มีนโยบายชัดเจน เพิ่มการทำ FTA ด้านสมาชิกแนะเร่งเจรจากรอบการค้าเพื่อผลดีกับเศรษฐกิจไทย

วานนี้(1 ธ.ค.) ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ลงมติให้ความเห็นชอบ ร่าง ความตกลงและ ร่าง หนังสือ รวม 3 ฉบับ ดังนี้ ร่างความตกลงระหว่างสหภาพยุโรปกับประเทศไทย ตามมาตรา 28 ของความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า (แกตต์) 1994 ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขข้อผูกพันสำหรับสินค้าที่มีโควตาภาษีในตารางข้อผูกพันของสหภาพยุโรป อันเป็นผลเนื่องมาจากการออกจากสมาชิกภาพสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร ร่างหนังสือจากรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรถึงรัฐบาลแห่งประเทศไทย และร่างหนังสือจากรัฐบาลแห่งประเทศไทย ถึงรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักร

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ในนามของคณะรัฐมนตรี ชี้แจงเพื่อความเข้าใจของสมาชิกรัฐสภา ในวาระการเสนอ ร่างความตกลงและร่างหนังสือเพื่อขอความเห็นชอบจากรัฐสภารวม 3 ฉบับ โดยเรื่องนี้ได้ดำเนินการเร่งรัดในเรื่องการเจรจามาโดยลำดับ ซึ่งมีเรื่องที่ต้องเจรจาหาข้อยุติให้ได้ 20 เรื่อง และจากที่ดำเนินการมา 8 ปี ทำได้เพียง 7 เรื่อง แต่ปีที่แล้วสามารถหาข้อยุติได้อีก 13 เรื่อง ทำให้ได้ข้อยุติได้ในการประชุมที่ผ่านมา โดยมีการลงนามไปเมื่อวันที่ 15 พ.ย.

ดังนั้น หลังจากสิ้นเดือนก.ย.แล้ว ก็ต้องมีการร่างหนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ ระหว่างไทย-EU และ ไทย-UK ซึ่งกว่าจะมีข้อยุติได้ในสิ้นเดือนต.ค.จากนั้นจึงได้เร่งเสนอที่ประชุมครม. และนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา

กรณีที่มีสมาชิกรัฐสภา สอบถามในเรื่องผลไม้ว่า ไม่เห็นมีปรากฎในข้อตกลงที่รายงานต่อรัฐสภา ว่าไทยได้โควต้าหรือไม่อย่างไร นายจุรินทร์ ชี้แจงว่า สำหรับอังกฤษ และสหภาพยุโรป ได้แยกเรื่องผลไม้ออกเป็น 2 ส่วน คือผลไม้เมืองหนาว และผลไม้เมืองร้อน สำหรับผลไม้เมืองหนาวนั้นมีโควต้า เช่น องุ่น เลมอน แอปเปิ้ล แพร์ เชอรี่ แอพลิคอต แต่สำหรับผลไม้เมืองร้อน ไม่มีโควต้า เพราะว่าการนำเข้าไม่มีผลกระทบต่อเกษตรกรในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป

ในส่วนที่สมาชิกรัฐสภาหลายคนมีความเห็นให้ประเทศไทย ได้ทำข้อตกลงทางการค้า หรือ FTA กับประเทศต่างๆ เพิ่มเติม และควรจะได้มีการเร่งดำเนินการนั้น รองนายกฯ กล่าวว่า รัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์มีนโยบายชัดเจน ที่ต้องการเพิ่มการทำ FTA กับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับ 1. สหภาพยุโรป 2. อังกฤษ เพราะเมื่อแยกตัวออกจาก EU ก็ต้องแยก FTA ออกเป็น 2 ฉบับอย่างเลี่ยงไม่ได้ 3. ยูเรเซีย และ 4. อาเซียน-แคนาดา

ส่วน FTAระหว่างไทย กับสหราชอาณาจักร ยูเรเซีย และอาเซียน-แคนาดา อยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบ

สำหรับกรณี CPTPP ที่มีสมาชิกรัฐสภา ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า กมธ. ได้พิจารณาเสร็จแล้ว และได้ส่งเข้าสู่ที่ประชุมครม.แล้วนั้น ควรจะได้มีการเร่งรัดดำเนินการพิจารณา และขอให้ทำตามข้อสังเกตของกมธ.ด้วย ซึ่งเรื่องนี้ นายจุรินทร์ กล่าวว่า จะดำเนินการก็ต่อเมื่อประเทศไทยต้องมีความพร้อม โดยเฉพาะเรื่องยา และพันธุ์พืช เป็นต้น ขณะนี้ครม. ได้รับผลการศึกษา CPTPP จากสภาแล้ว และที่ประชุมครม. ได้มอบให้ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกฯ เป็นประธานพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และให้รายงานกลับมายังครม.ภายใน 30 วัน

ทั้งนี้ เรื่องที่สมาชิกรัฐสภาให้ความเห็น ต่อเรื่องการส่งออกไปยังสหราชอาณาจักร ซึ่งจะแยกตัวจากสหภาพยุโรป ในวันที่ 1ม.ค.64 นี้ นายจุรินทร์ กล่าวว่ากระทรวงพาณิชย์ รวมทั้งตน ได้ประชุมหารือกับภาคเอกชน ทั้งผู้ประกอบการ และผู้ส่งออกมาโดยลำดับอย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ตาม สมาชิกได้อภิปรายเห็นด้วย กับร่างความตกลงจัดสรรปริมาณสินค้าโควตาภาษีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป (EU)กับหนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักร แนะไทยเร่งเจรจากรอบการค้าให้เร็วขึ้น จะเป็นผลดีกับศก.ไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น