“สุพัฒนพงษ์” รับลูกข้อเสนอ ส.อ.ท.อุ้มผู้ใช้ไฟรายใหญ่ให้ขยายเวลาการยกเว้นเก็บอัตราค่าไฟขั้นต่ำ (Minimym Charge) ออกไปอีก 3 เดือน หรือสิ้นสุด มี.ค. 64 จากจะสิ้นสุด ธ.ค.นี้ โดยมอบให้ กกพ.เป็นผู้พิจารณา พร้อมเร่งให้ทุกฝ่ายอนุรักษ์พลังงานลดโลกร้อน
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยในงานสัมมนาเชิงวิชาการ Thailand ESCO Fair 2020 หัวข้อ “Move Forwards to Smart Industry by ESCO ซึ่งจัดโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับกระทรวงพลังงาน ว่าขณะนี้ได้มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)ไปพิจารณาขยายมาตรการผ่อนผันยกเว้นการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าขั้นต่ำ (Minimum Charge) เป็นการชั่วคราวให้กับผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ (ประเภท 3-7) ออกไปอีกหลังกำหนดสิ้นสุดมาตรการในเดือนธันวาคม 2563 เพื่อบรรเทาผลกระทบค่าบริการไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟรายใหญ่จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโดยรวม
“ทางเอกชนได้ยื่นข้อเสนอมาขอให้ทางรัฐได้ช่วยพิจารณาขยายเวลามาตรการนี้ออกไปอีก เพราะเห็นว่ากิจการหลายอย่างยังได้รับผลกระทบเช่นโรงแรม ซึ่งก็เห็นด้วยแต่จะเป็นระยะเวลากี่เดือนคงขอให้ทาง กกพ.เป็นผู้พิจารณา” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว
สำหรับนโยบายพลังงานในระยะต่อไปจะต้องมุ่งเน้นให้ทุกฝ่ายต้องช่วยกันลดการใช้พลังงานเพื่อแก้ไขการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือ Climate Change ที่โลกร้อนขึ้น ดังนั้นจึงได้มอบหมายให้การจัดสรรงบกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานเร่งใช้เงินดังกล่าวเพื่อให้เป้าหมายการอนุรักษ์พลังงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งขณะนี้พบว่าบริษัทจัดการพลังงาน (ESCO) ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการพัฒนาโครงการอนุรักษ์พลังงานแบบครบวงจรตลอด 11 ปี ได้มีการลงทุนทั้งสิ้น 20,000 ล้านบาท เกิดการประหยัดคิดเป็นมูลค่า 5,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งอนาคตคาดว่าจะมีการลงทุนเพิ่มมากขึ้น
นายรุ่งเรือง สายพวรรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม ส.อ.ท.กล่าวว่า เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ส.อ.ท.ได้ทำหนังสือซึ่งลงนามโดยประธาน ส.อ.ท.ถึงนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน และสำเนาถึงเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เพื่อขอความช่วยเหลือผู้ประกอบการในเรื่องการขยายการเก็บค่าไฟฟ้าขั้นต่ำ (Minimum Charge) ออกไปอีก 3 เดือนจนถึงสิ้นเดือน มี.ค. 2564
“รัฐได้ช่วยเหลือให้กับผู้ใช้ไฟที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ส่งผลให้จากเดิมให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทดังกล่าว ซึ่งคิดจากค่าไฟฟ้าในอัตราขั้นต่ำในช่วงภาวะเศรษฐกิจปกติ มาเป็นการเสียค่าไฟฟ้าตามจริงในช่วงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงมีผลตั้งแต่ เม.ย.-มิ.ย. 63 และได้ขยายมาตรการดังกล่าวต่อเนื่องมาจนถึงสิ้นธ.ค. 63 แต่เห็นว่าผู้ประกอบการเองก็ยังได้รับผลกระทบต่อเนื่องอยู่จึงอยากให้ขยายเวลาไปอีก 3 เดือน” นายรุ่งเรืองกล่าว
สำหรับการดำเนินงานของสถาบันพลังงานฯ ขณะนี้มี 50 บริษัทมาขึ้นทะเบียนเป็นบริษัทจัดการพลังงาน (ESCO) แล้ว อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าหลังจากปัญหาโควิด-19 ทำให้การใช้ไฟฟ้าลดลงการลงทุนในการอนุรักษ์พลังงานได้ปรับลดลงตามไปด้วยโดยปีนี้ได้ลดลงถึง 50% จากเฉลี่ยปีละ 2,000 ล้านบาท แต่เชื่อว่าเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวก็จะกลับมาสู่ภาวะปกติได้
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า ส.อ.ท.ได้ร่วมกับกระทรวงพลังงานจัดงาน Thailand ESCO Fair 2020 หัวข้อ Move Forwards to Smart Industry by ESCO ซึ่งเป็นงานสัมมนาและการจัดนิทรรศการที่มีบูทเข้าร่วม 40 บูทที่เกี่ยวกับด้านการอนุรักษ์พลังงาน พลังงานทดแทน อุปกรณ์เทคโนโลยีและสินเชื่อด้านพลังงาน เพื่อให้สถานประกอบการอื่นเห็นถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการใช้บริการของบริษัทจัดการพลังงาน (ESCO) ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา