xs
xsm
sm
md
lg

สัญญาณ ศก.เริ่มฟื้น ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ต.ค.เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเดือนที่ 6

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส.อ.ท.เผยดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมฯ ต.ค.แตะระดับ 86 ขยับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 นับตั้งแต่ พ.ค. หลังการบริโภคในประเทศฟื้นตัว แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงอีกเพียบที่ต้องติดตามโดยเฉพาะการระบาดโควิด-19 รอบสอง


นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนตุลาคม 2563 อยู่ที่ระดับ 86.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 85.2 ในเดือนกันยายน 2563 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาเนื่องจากการบริโภคภายในประเทศเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งสิ้นค้าอุปโภค และสินค้าคงทน ส่งผลให้ภาคการผลิตเริ่มฟื้นตัวตาม ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐผ่านการท่องเที่ยวและการบริโภคสนับสนุนให้เกิดการใช้จ่ายในประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกจึงทำให้สัญญาณเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวชัดเจนขึ้น อย่างไรก็ตาม เอกชนยังคงกังวลถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เริ่มกลับมาระบาดอีกครั้งในหลายประเทศโดยเฉพาะในยุโรปที่ทำให้ต้องประกาศล็อกดาวน์รอบสอง

“ยุโรปเริ่มกลับมาล็อกดาวน์ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัว คำสั่งซื้อจากต่างประเทศมีแนวโน้มลดลง รวมทั้งการปิดด่านการค้าชายแดนที่ติดกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ (พม่า) ทำให้การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศมีความล่าช้า ขณะเดียวกันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีบางรายยังประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง เนื่องจากยอดขายสินค้าลดลงในช่วงการระบาดของโควิด-19 และยอดขายยังไม่กลับมาเท่ากับช่วงก่อนจึงยังคงให้ต้องติดตามใกล้ชิด” นายสุพันธุ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,333 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศในเดือนตุลาคม 2563 พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก 66.9% สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ 57.1% อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ 44.2 %และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 38.4% ตามลำดับ ส่งผลให้ดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 91.9 จากระดับ 93.3 ในเดือนกันยายน 2563

ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ขอให้ภาครัฐรักษามาตรฐานการควบคุมโควิด-19 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน ขอให้ภาครัฐเร่งรัดการจ่ายเงินการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐทุกโครงการภายใน 30 วัน หลังจากการตรวจรับเรียบร้อย เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องทางการเงินภาคเอกชน เร่งผลักดันโครงการลงทุนและโครงการก่อสร้างของภาครัฐทุกโครงการที่ได้วางแผนไว้เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น