กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท.แนะรัฐกรณีมาตรการรถเก่าแลกรถใหม่ระยะเร่งด่วนต้องเน้นผลิตในประเทศก่อนเหตุได้รับผลกระทบโควิด-19 ยอดขายยังตกต่ำแถมดูแลผู้ผลิตชิ้นส่วน แถมเป็นรถที่ใช้เอทานอลและไบโอดีเซลช่วยเกษตรกรได้ แต่หากให้แลก “อีวี” ยังต้องนำเข้า ควรรอให้มีการผลิตในไทยน่าจะเหมาะสมกว่า คาดปลายปี 64-65
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และในฐานะโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท.เปิดเผยถึงกรณีที่รัฐมีการพิจารณามาตรการรถยนต์เก่าแลกรถยนต์ใหม่ได้ส่วนลดเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า กลุ่มยานยนต์ ส.อ.ท.เบื้องต้นเห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว แต่รถใหม่ที่จะส่งเสริมให้แลกระยะเร่งด่วนควรเป็นรถที่ผลิตในประเทศเป็นหลักที่ขณะนี้เป็นรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง แต่หากให้แลกเป็นยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ยังจำเป็นต้องรอให้มีการผลิตและโครงสร้างพื้นฐานในประเทศให้พร้อมก่อน ซึ่งขณะนี้ค่ายรถยนต์ในไทยยังไม่มีการผลิตอีวีแต่อย่างใด
“เราไม่ได้คัดค้านมาตรการนี้ หากแต่การส่งเสริมเปลี่ยนรถใหม่ต้องเน้นผลิตในประเทศเป็นหลักที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อช่วยดูแลไปถึงเอสเอ็มอีที่ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ป้อนโรงงานมีการจ้างงานรวมกันมากถึง 1 ล้านคน และรถยนต์ที่ผลิตในประเทศเป็นรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเอทานอลและไบโอดีเซลที่มีส่วนช่วยเกษตรกร และยังช่วยลดมลภาวะลงได้อีกทางหนึ่งด้วย หากส่งเสริมอีวีตอนนี้ไม่มีผลิตยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ” นายสุรพงษ์กล่าว
นอกจากนี้อีวียังมีราคาสูงถึงคันละกว่า 1 ล้านบาทขึ้นไปถึงหลายล้านบาท กลุ่มคนที่ซื้อจึงเป็นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อสูงที่ชอบเทคโนโลยีใหม่ๆ สำหรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย เบื้องต้นจากการที่ค่ายรถยนต์ต่างๆ ยื่นคำขอรับส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ ในช่วงปี 2561 จะต้องเริ่มต้นสายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าปลายปี 2564-2565
ปัจจุบันประเทศไทยมียอดสะสมรถยนต์นั่งรวมประมาณ 10 ล้านคัน แบ่งเป็นรถยนต์ใช้น้ำมันเบนซิน 6.4 ล้านคัน คิดเป็น 62% และรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซล 3 ล้านคัน หรือคิดเป็น 29% ของรถยนต์ทั้งหมดในภาพรวม ขณะที่รถยนต์ไฟฟ้ากลุ่มรถยนต์นั่งไม่เกิน 7 ที่นั่งเติบโตเพิ่มขึ้น 140% จาก 31 ธันวาคม 2562 ที่มียอดขายรวม 802 คัน มาเป็นกว่า 1,000 คัน และเป็นการเติบโตมาจากรถยนต์ไฟฟ้านำเข้าจากต่างประเทศ โดยราคาขายสูงเกินกว่า 1 ล้านบาทขึ้นไป ขายดีในช่วงราคา 2-3 ล้านบาท
“หากพิจารณาตลาดกำลังซื้อของคนส่วนใหญ่ในประเทศต้องการซื้อรถยนต์ประมาณคันละไม่เกิน 800,000 บาท ตรงกันข้ามกับยอดขายรถยนต์ที่ผลิตในประเทศในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ต.ค. 63) ยอดขายลดลง 27% ยอดขายรถยนต์นั่งตกลงไป 37% ส่วนกลุ่มรถยนต์นั่งไฮบริดที่ขายในประเทศ ช่วง 10 เดือน ปี 2563 เติบโตขึ้น 44% ด้วยยอดขายเดือนละประมาณ 4,700 คัน ยอดสะสม 10 เดือนที่ 47,000 คัน ยอดสะสมในประเทศกว่า 153,000 คัน แต่ภาพรวมมีสัดส่วนคิดเป็น 1.48% ของยอดรถยนต์สะสมทั้งหมดที่มีประมาณ 10 ล้านคัน” นายสุรพงษ์กล่าว