xs
xsm
sm
md
lg

ซีพีเอฟเดินหน้ายกระดับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนตลอดห่วงโซ่การผลิตอาหารสู่สากล

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เดินหน้าพัฒนามาตรฐานแรงงาน และสิทธิมนุษยชนในสถานประกอบกิจการสู่สากลอย่างต่อเนื่อง ตลอดห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่ ฟาร์มและโรงงานในธุรกิจสัตว์บก และธุรกิจสัตว์น้ำของบริษัท 194 องค์กรดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบต่อแรงงานได้การรับรองมาตรฐานแรงงานไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภคทั่วโลก

นางสาวพิมลรัตน์ รีพัฒนาวิจิตรกุล รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ด้านทรัพยากรบุคคล ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟให้ความสำคัญต่อการผลิตอาหารที่มาจากแหล่งวัตถุดิบคุณภาพสูง มีขั้นตอนการผลิตที่ยั่งยืน ยึดมั่นในนโยบายที่เกี่ยวข้องกับด้านสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติด้านแรงงานของบริษัท และต่อต้านการใช้แรงงานผิดกฎหมาย แรงงานเด็ก และแรงงานทาสตลอดห่วงโซ่อุปทาน การส่งเสริมการเข้าถึงอาหาร การจ้างงานอย่างเป็นธรรมและเสมอภาค สอดคล้องกับหลักปฏิบัติของสหประชาชาติว่าด้วยการดำเนินธุรกิจและสิทธิมนุษยชน และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ เพื่อให้มั่นใจว่าห่วงโซ่อุปทานจะปราศจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างสิ้นเชิง รวมทั้งมีส่วนร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานอย่างต่อเนื่อง ตอบรับความต้องการผู้บริโภคทั่วโลก


เมื่อเร็วๆ นี้ ซีพีเอฟได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวน์โจนส์ (Dow Jones Sustainability Index : DJSI) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 ในกลุ่ม Emerging Market โดยมีความโดดเด่นในด้านการเคารพสิทธิมนุษยชน ที่มีการทบทวนและประเมินสถานะด้านสิทธิมนุษยชนขององค์กรอย่างรอบด้าน เพื่อปรับปรุงประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติด้านแรงงานในทุกสายธุรกิจของกิจการประเทศไทย และมีนโยบายสนับสนุนให้พนักงานทุกระดับ ทุกเชื้อชาติ และทุกสายงานมีส่วนร่วมเสนอแนะให้บริษัทพิจารณาปรับปรุงในด้านสวัสดิการ สภาพแวดล้อมการทำงาน การร้องเรียน และการบริหารจัดการด้านแรงงาน ผ่านคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันสถานประกอบการซีพีเอฟ ทั้งฟาร์มเลี้ยงสัตว์ และโรงงานแปรรูปอาหาร จำนวน 194 แห่งของธุรกิจสัตว์บกและสัตว์น้ำผ่านการรับรองมาตรฐานแรงงานไทย (มรท.8001) ของกระทรวงแรงงาน และยังส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรในโครงการคอนแทรกต์ฟาร์มสามารถดูแลแรงงานตามแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี หรือ Good Labour Practice (GLP) ตั้งแต่ปี 2559 โดยบริษัทฯ เข้าไปติดตามประเมินผลและให้คำแนะนำเพิ่มเติมเป็นประจำทุกปี ตลอดจนร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ขับเคลื่อนด้านสิทธิมนุษยชน และการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของแรงงานในห่วงโซ่การผลิตอาหารเดินหน้าสู่การผลิตอาหารอย่างยั่งยืน


บริษัทฯ ได้ร่วมกับสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย ส่งพนักงานเข้าอบรม “วิทยากรต้นแบบ” จัดโดย องค์การแรงงานระหว่างประเทศ เบื้องต้นมาช่วยอบรมความรู้ด้านมาตรฐานแรงงานในระดับสากล ให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องของโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ 4 แห่งของบริษัทฯ และจะขยายต่อไปถึงฟาร์มเลี้ยงสัตว์ของบริษัท และเกษตรกร ได้มีความรู้และเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติที่ดีต่อแรงงานตามมาตรฐานสากล เพื่อเสริมความเข้มแข็งด้านสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติด้านแรงงานในห่วงโซ่อุปทาน

นอกจากนี้ ซีพีเอฟให้ความสำคัญต่อการรับฟังเสียงของพนักงานทุกเชื้อชาติและทุกระดับ โดยร่วมมือกับมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (Labour Protection Network Foundation : LPN) ดำเนินการศูนย์รับฟังเสียงพนักงาน หรือ Labour Voice By LPN ต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปี เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของพนักงานทุกเชื้อชาติในการแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และแจ้งข้อร้องเรียนผ่านองค์กรที่เป็นกลาง เพื่อที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานทุกคน รวมทั้งแรงงานต่างชาติให้อาศัยทำงานอยู่ในประเทศไทยอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม และการฝึกอบรม ให้ความรู้แก่แรงงานในประเด็นสิทธิของแรงงาน


ขณะเดียวกัน บริษัทยังต่อยอดถ่ายทอดหลักการดูแลและบริหารแรงงานให้แก่คู่ค้าธุรกิจในห่วงโซ่อุปทานดำเนินงานเป็นไปในมาตรฐานและทิศทางเดียวกัน ทั้งการจ้างงาน และการบริหารแรงงาน รวมถึงการออกแถลงการณ์ต่อต้านการใช้แรงงานทาส และการค้ามนุษย์ สอดคล้องกับนโยบายการจัดหาอย่างยั่งยืน และแนวปฏิบัติสำหรับคู่ค้าธุรกิจ เพื่อให้ช่วยยกระดับมาตรฐานแรงงานในห่วงโซ่อุปทานอาหารของไทยสู่สากล




กำลังโหลดความคิดเห็น