สุวรรณภูมิปรับแผนลดเวลาซ่อมเปลี่ยนผิวรันเวย์จาก 4 ปี เหลือ 2 ปี ระดมปิดพื้นที่หัวทางวิ่งและแท็กซี่ช่วงโควิด-19 ที่มีเที่ยวบินน้อย เร่ง TOR ประมูลงบ 4.4 พันล้าน คาดเริ่มสร้าง ก.ค. 64 เสร็จปี 66
นาวาอากาศโท สุธีรวัฒน์ สุวรรณวัฒน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า จากแผนที่จะดำเนินการซ่อมแซมปรับปรุงพื้นผิวทางขับ (Taxiway) ทางขับเข้าสู่หลุมจอด (Taxilane) และหัวทางวิ่ง (Runway) สนามบินสุวรรณภูมิ ในระหว่างปี พ.ศ. 2564-พ.ศ. 2568 แบ่งการดำเนินการออกเป็น 4 ระยะ ซึ่งจะทำการปรับปรุงบริเวณหัวทางวิ่ง 01L, 19L และ 19R ทางขับ B, C, D, E, G และ H ทางขับเข้าสู่หลุมจอด (Taxilane) T4, T5, T6, T7, T8, T9, T10, T11, T12, T13, T14, T15, T16 และ T17 นั้น
แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้ปริมาณเที่ยวบินลดลงมากตามจำนวนผู้โดยสารนั้น จึงได้พิจารณาในรายละเอียดและสามารถปรับลดระยะเวลาการซ่อมจากเดิม 4 ปี เหลือเพียง 2 ปี คือระหว่างปี พ.ศ. 2564-พ.ศ. 2566
โดยมีพื้นที่ซ่อมแซมรวมทั้งสิ้น 792,314 ตารางเมตร แบ่งงานซ่อมแซมออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 พื้นที่ 277,859 ตร.ม. มูลค่า 1,275 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 270 วัน และระยะที่ 2 พื้นที่ 514,455 ตร.ม. มูลค่า 3,125 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 450 วัน
ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการเตรียมเผยแพร่ข้อกำหนดรายละเอียดงานจ้าง (Term of Reference : TOR) เพื่อจัดหาผู้รับจ้างของงานระยะที่ 1 ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีปฏิทิน พ.ศ. 2564 (ก.ค.-ก.ย. 64)
นาวาอากาศโท สุธีรวัฒน์กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้มีปริมาณจราจรทางอากาศ การจราจรภาคพื้น และการใช้บริการหลุมจอดอากาศยานน้อยลง จึงสามารถบริหารจัดการหลุมจอดและเส้นทางการจราจรภาคพื้นของอากาศยานได้ง่ายขึ้น และส่งผลให้การปิดพื้นที่ทางขับและหลุมจอดอากาศยานเพื่อดำเนินการปรับปรุงมีข้อจำกัดลดลง สามารถส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้ผู้รับจ้างเข้าดำเนินการพร้อมกันได้หลายพื้นที่โดยไม่กระทบต่อการให้บริการผู้โดยสาร
การปรับปรุงพื้นผิวทางขับ (Taxiway) ทางขับเข้าสู่หลุมจอด (Taxilane) และหัวทางวิ่ง (Runway) ในครั้งนี้มีความจำเป็นที่ต้องเร่งรัดให้มีการดำเนินงานตามแผน เนื่องจากบริเวณดังกล่าวต้องรองรับน้ำหนักอากาศยานมากกว่าบริเวณอื่นๆ และเป็นบริเวณที่มีความถี่ในการใช้งานสูง ให้คงทนแข็งแรง สามารถรองรับน้ำหนักของอากาศยานขนาดใหญ่ได้เต็มประสิทธิภาพ
ในการปรับปรุงครั้งนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดวัสดุพื้นผิวจากวัสดุแอสฟัลต์เป็นวัสดุปอร์ตแลนด์ซีเมนต์คอนกรีต พร้อมกับการติดตั้งระบบระบายน้ำใต้ดิน ซึ่งเป็นการดำเนินการตามผลการศึกษาและคำแนะนำของวิศวกรที่ปรึกษาอิสระ โดยคอนกรีตจะมีความแข็งแรงและทนต่อความชื้นที่เกิดจากน้ำใต้ดินซึ่งมีระดับสูงในบริเวณสนามบินได้ดี
ระหว่างการดำเนินการภายใต้โครงการข้างต้นจะมีมาตรการระยะสั้นรองรับ โดยจัดให้มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง หากได้รับแจ้งหรือตรวจพบความชำรุดบกพร่องจะทำการปิดพื้นที่เพื่อซ่อมแซมพื้นผิวอย่างเร่งด่วนในทันที สำหรับการดำเนินการในระยะกลาง ทสภ.จะดำเนินการซ่อมแซมพื้นผิวโดยเปลี่ยนชั้นวัสดุแอสฟัลต์เดิมให้เป็นวัสดุแอสฟัลต์ที่มีคุณภาพที่ดีขึ้นให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม จากการดำเนินงานในระบบการจัดการด้านนิรภัยของสนามบิน (Safety Management System) ของสนามบิน ซึ่งมีการเก็บสถิติการแตกของพื้นผิวและการแก้ไขปัญหาโดยการปิดพื้นที่ซ่อมฉุกเฉิน พบว่าสถิติการตรวจพบพื้นผิวแตกร่อนและการปิดซ่อมฉุกเฉินลดลงอย่างมาก และปัจจุบันยังไม่พบเหตุการณ์อากาศยานได้รับความเสียหายจากพื้นผิวที่แตกร่อนแต่อย่างใด
นอกจากนี้ เพื่อให้การดูแลคุณภาพพื้นผิวทางวิ่ง ทางขับ และลานจอดอากาศยานอยู่ในมาตรฐานสูงสุด ทสภ.ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาคุณภาพผิวทางวิ่ง ทางขับ และลานจอดอากาศยาน ทสภ. โดยมีการประชุมร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) คณะกรรมการดำเนินงานธุรกิจการบินกรุงเทพ (Airline Operators Committee : AOC) เพื่อรายงานและประเมินสถานการณ์ตามมาตรฐานด้านความปลอดภัยของ ทสภ.เป็นประจำทุกสัปดาห์ด้วย