“ศักดิ์สยาม” ลงพื้นที่ “บุรีรัมย์ สุรินทร์” ติดตามงานและเร่งช่วยเหลือประชาชนตามข้อสั่งการนายกฯ ขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน เร่งแผนพัฒนาโครงการคมนาคม งบ 5 หมื่นล้าน ยกระดับคุณภาพชีวิตหนุนเศรษฐกิจในพื้นที่
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงคมนาคม ประชุมติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ และสุรินทร์ โดยมีนายธัชกร หัตถาธยากูล ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ นายสุวพงศ์ กิติภัทย์พิบูลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ผู้แทนจากหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ และสุรินทร์ ร่วมประชุม ในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2563 ณ โรงแรมเครสโค จังหวัดบุรีรัมย์
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิต การประกอบอาชีพ การดำรงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน พลเอก ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี จึงได้มีคำสั่งลงวันที่ 13 สิงหาคม 2563 แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน เพื่อกำกับ ติดตาม เร่งรัด ช่วยเหลือเยียวยา และขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ เริ่มจากปัญหาเร่งด่วนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และรวดเร็วทันเหตุการณ์ โดยบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนในพื้นที่แต่ละจังหวัดตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การดำเนินชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) และแนวคิดการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน และได้มีคำสั่งลงวันที่ 14 สิงหาคม 2563 มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรับผิดชอบแนวคิดการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดสุรินทร์ โดยมีหน้าที่เป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำและเสนอแนะแก่คณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันในพื้นที่จังหวัดที่รับผิดชอบ เพื่อให้การพัฒนาและแก้ไขปัญหาในระดับจังหวัดสามารถขับเคลื่อนไปได้โดยเร็ว ลดปัญหา และอุปสรรค รวมทั้งใช้ทรัพยากรต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวว่า จังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดสุรินทร์ ได้รายงานปัญหาความเดือดร้อนเร่งด่วนและแนวทางแก้ไขปัญหาเบื้องต้น 5 ประเด็น ประกอบด้วย 1. ปัญหาความเดือดร้อนและผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ซึ่งส่งผลให้เกิดการว่างงาน ขาดรายได้ ขาดความเชื่อมั่นในการลงทุน ซึ่งเมื่อจังหวัดได้รับงบประมาณแล้วต้องแปลงแผนงานลงไปสู่การปฏิบัติโดยเร็ว
2. ปัญหาด้านการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ปัญหาภัยแล้ง อุทกภัย การขาดแคลนแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคที่เพียงพอและมีคุณภาพ จะประสานงานกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อขับเคลื่อนแผนให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว 3. ปัญหาการขาดที่ดินทำกิน
4. ปัญหาทางสังคมและความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความใกล้ชิดกับประชาชน และ 5. ปัญหาการขาดแคลนหรือความต้องการในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งการคมนาคมขนส่งที่ทันสมัย สะดวกสบาย มีประสิทธิภาพ และปลอดภัย ให้สามารถรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจให้พื้นที่ทั้ง 2 จังหวัดในอนาคต
จากสภาพปัญหาดังกล่าวที่ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นในวันนี้จะเป็นแนวทางการดำเนินงานภายใต้การขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนให้สำเร็จอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับแนวทางตามยุทธศาสตร์ชาติ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ของรัฐบาล
นอกจากนี้ ได้มอบแนวทางการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ได้แก่ 1. ให้ความสำคัญกับการสำรวจและทำความเข้าใจกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น รวมทั้งปรับปรุงในเรื่องการสร้างความรับรู้และเข้าใจกับประชาชน ต้องมีข้อมูลที่ชัดเจน เพียงพอ ที่จะสามารถนำมาใช้ประกอบการพิจารณากำหนดแนวทาง การตัดสินใจ และการแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
2. การแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนตามแนวทางการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันในครั้งนี้ ต้องคำนึงถึงความแตกต่างของประชาชนในแต่ละพื้นที่ โดยช่วยกันกำหนดวิธีการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาด้วยแนวทาง “ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน” สร้างการมีส่วนร่วมจากพี่น้องประชาชนในทุกระดับ ทุกภาคส่วน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน
3. ขอให้ทุกหน่วยงานดำเนินการตามอำนาจ หน้าที่ ของตนเอง ให้มีความถูกต้องตามหลักของกฎหมาย ยึดแนวทางการบริหารอย่างมีธรรมาภิบาล เพื่อให้การขับเคลื่อนเป็นที่ยอมรับโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดที่จะเกิดขึ้นแก่ประชาชน และยึดหลัก “โปร่งใส เข้าถึง ตรวจสอบได้”
4. ขอให้คณะกรรมการฯ ทั้ง 2 จังหวัดประชุมหารือกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน และให้ติดตามผลการดำเนินงาน และประเมินผลลัพธ์ของการดำเนินงานโดยการวัดจากประสิทธิผลหรือประโยชน์ที่ประชาชนได้รับ โดยให้จังหวัดรายงานผลการปฏิบัติงานตามแนวทางของคณะกรรมการฯ อย่างสม่ำเสมอ หากยังไม่เกิดผลก็ให้ปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินงานใหม่
5. การขับเคลื่อนพัฒนางานด้านการคมนาคมขนส่งจังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดสุรินทร์ เพื่อให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น ตามหลักยุทธศาสตร์ที่มุ่งเน้นความสะดวก ปลอดภัย และตรงเวลา
เร่งพัฒนาโครงการคมนาคม งบ เกือบ 5 หมื่นล้าน
สำหรับโครงการสำคัญต่างๆ ในพื้นที่ มีดังนี้
1. การพัฒนาโครงข่ายทางหลวงจังหวัดบุรีรัมย์ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ระยะทาง 103 กิโลเมตร ค่าก่อสร้างรวม 3,241 ล้านบาท และได้รับงบประมาณปี 64 ระยะทาง 66 กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง 1,900 ล้านบาท การพัฒนาทางหลวงชนบท จำนวน 170 โครงการ วงเงิน 2,145 ล้านบาท 2. การพัฒนาโครงข่ายทางหลวงจังหวัดสุรินทร์ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ระยะทาง 62 กิโลเมตร ค่าก่อสร้างรวม 2,766 ล้านบาท ได้รับงบประมาณปี 64 และแผนในอนาคต ระยะทาง 79.5 กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง 2,425 ล้านบาท การพัฒนาทางหลวงชนบท จำนวน 81 โครงการ วงเงิน 748 ล้านบาท
3. แผนพัฒนารถไฟทางคู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาทิ ช่วงชุมทางจิระ-ขอนแก่น วงเงิน 26,007.20 ล้านบาท ก่อสร้างแล้วเสร็จ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ วงเงิน 7,560 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง เป็นต้น 4. การพัฒนาท่าอากาศยานบุรีรัมย์ให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 2.88 ล้านคนต่อปี โดยใช้งบประมาณ 1,725 ล้านบาท