xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” ขอชาวนาอย่ากังวลข้าวตก ยันมีประกันรายได้จ่ายเงินส่วนต่าง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“พาณิชย์” ชี้แจงชาวนา ยันมีมาตรการดูแลราคาข้าว ทั้งการจ่ายส่วนต่างในโครงการประกันรายได้ และการใช้มาตรการเสริมผลักดันราคา หลังราคาข้าวเปลือกหอมมะลิฤดูกาลใหม่ตกต่ำ เผยเป็นเพราะผู้ซื้อรอดูสถานการณ์ผลผลิต นักท่องเที่ยวลดฉุดการบริโภคในประเทศ และบาทแข็งทำส่งออกสู้คู่แข่งลำบาก ส่วนการส่งออกปี 64 มั่นใจดีขึ้น ระบุไทยมีพันธุ์ข้าวที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม รองอธิบดี รักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงกรณีที่สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบปัญหาข้าวเปลือกหอมมะลิราคาตกต่ำว่า กรมฯ ได้ทำการตรวจสอบแล้วพบว่าขณะนี้ผลผลิตข้าวเปลือกหอมมะลิ ฤดูกาลผลิตปี 2563/64 อยู่ในช่วงเก็บเกี่ยวและกำลังทยอยออกสู่ตลาด ทำให้ผู้นำเข้ารอดูสถานการณ์ผลผลิตข้าวไทยว่ามีมากน้อยแค่ไหน ประกอบกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การบริโภคในประเทศชะลอตัวจากนักท่องเที่ยวน้อยลง รวมถึงมีปัญหาการส่งออกที่ลดลง เนื่องจากราคาข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่งทำให้แข่งขันได้ยากและปัญหาค่าเงินบาท ขณะที่ผู้ค้าข้าวก็มีการระบายข้าวเพื่อเสริมสภาพคล่องรองรับผลผลิตฤดูกาลใหม่ ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิในช่วงนี้ปรับตัวลดลง โดยข้าวเกี่ยวสดความชื้น 28-30% มีราคาตันละ 9,500-10,000 บาท ส่วนข้าวเปลือกแห้ง ความชื้นไม่เกิน 15% ตันละ 12,000-12,500 บาท

โดยขอชี้แจงต่อเกษตรกรว่า ขณะนี้รัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2563/64 รอบที่ 1 แล้ว โดยกำหนดราคาเป้าหมายข้าวเปลือกหอมมะลิ 15,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคา 14,000 บาท/ตัน ไม่เกิน 16 ตัน ข้าวเปลือกเจ้า ราคา 10,000 บาท/ตัน ไม่เกิน 30 ตัน ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคา 11,000 บาท/ตัน ไม่เกิน 25 ตัน และข้าวเปลือกเหนียว ราคา 12,000 บาท/ตัน ไม่เกิน 16 ตัน โดยจะจ่ายเงินส่วนต่างของราคาประกันให้แก่เกษตรกรหากราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงต่ำกว่าราคาเป้าหมาย

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการคู่ขนานที่จะนำมาใช้ดูดซับผลผลิตฤดูกาลใหม่ที่จะออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนพ.ย. 2563 เป็นต้นไป โดยจะมีการจูงใจให้เกษตรกร สหกรณ์ สถาบันเกษตรกร รวมทั้งผู้ประกอบการค้าข้าวทั่วไปเก็บสต๊อก เพื่อเป็นการสร้างเสถียรภาพราคาตลาด มีเป้าหมาย 7 ล้านตันข้าวเปลือก ผ่านโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ให้ค่าฝากเก็บตันละ 1,500 บาท เป้าหมาย 1.5 ล้านตัน โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร สหกรณ์เสียดอกเบี้ยร้อยละ 1 เป้าหมาย 1.5 ล้านตัน และโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก ชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการร้อยละ 3 เป้าหมาย 4 ล้านตัน

ส่วนแนวโน้มการส่งออกข้าวไทยในปี 2564 ต้องรอดูปริมาณของผลผลิตข้าวในปี 2563/64 ก่อนว่าจะมีมากน้อยเพียงใด เบื้องต้นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์คาดว่าจะมีผลิตข้าวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ราคาข้าวปรับตัวลดลงจากราคาสูงในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา จากปัญหาภัยแล้ง ทำให้ช่องว่างของราคาข้าวไทยกับข้าวของประเทศคู่แข่งลดน้อยลง และจะทำให้ศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลกดีขึ้น และล่าสุดไทยยังมีข้าวถึง 7 ชนิดที่จะป้อนความต้องการของตลาด คือ 1. ตลาดพรีเมียม ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ และข้าวหอมไทย 2. ตลาดทั่วไป ได้แก่ ข้าวขาวพื้นนุ่ม ข้าวขาวพื้นแข็ง และข้าวนึ่ง และ 3. ตลาดเฉพาะ ได้แก่ ข้าวเหนียว และข้าวสีหรือข้าวคุณลักษณะพิเศษ


กำลังโหลดความคิดเห็น