ปตท.คาดปี 64 รายได้โตขึ้นจากปีนี้ จากแนวโน้มราคาน้ำมันดิบปรับสูงขึ้นไม่มากอยู่ในกรอบ 40-50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และสถานการณ์สงครามการค้าและโควิด-19 ผ่อนคลายลง รวมทั้งการขายน้ำมันในประเทศเข้าสู่ภาวะปกติ เว้นน้ำมันอากาศยานที่ยังต่ำอยู่ พร้อมตั้งเป้า 10 ปีกลุ่ม ปตท.มีกำลังผลิตไฟฟ้าจากฟอสซิลและพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นรวม 1.6 หมื่นเมกะวัตต์
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) (PTT) เปิดเผยว่า แนวโน้มรายได้ปี 2564 มีทิศทางที่ดีขึ้นจากปีนี้ เนื่องจากแนวโน้มราคาน้ำมันดิบเคลื่อนไหวในกรอบ 40-50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล สูงขึ้นไม่มากจากปีนี้ที่เฉลี่ย 41-42 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และปริมาณขายที่น่าจะเพิ่มขึ้น ตามทิศทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะฟื้นตัวหลังนายโจ ไบเดน ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่มีท่าทีประนีประนอมทำให้สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนผ่อนคลายลง และสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้นหากมีการค้นพบวัคซีนต้านโควิด-19 ออกมา
ทั้งนี้ นโยบายของนายโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ สนับสนุนพลังงานทดแทนมากกว่าพลังงานจากฟอสซิล น่าจะทำให้การผลิตน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิสจากสหรัฐฯ ออกมาน้อยลง เป็นผลดีต่อทิศทางราคาที่จะปรับเข้าสู่สมดุล รวมถึงนโยบายจัดเก็บภาษีมากขึ้นจากผู้มีรายได้สูงขึ้นเพื่อเพิ่มค่าจ้างแรงงานระดับล่างให้มีกำลังซื้อมากขึ้นส่งผลดีต่อเศรษฐกิจให้เติบโต ซึ่งจะมีผลทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ซึ่งก็จะกดดันให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ส่งผลกระทบต่อราคาขายปลีกน้ำมันไม่มากนักและราคาน้ำมันน่าจะเคลื่อนไหวใกล้เคียงกับปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มราคาน้ำมันดิบในปีหน้าคาดว่าเฉลี่ยที่ 40-50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
ส่วนการจัดทำงบประมาณและแผนงานของ ปตท.นั้น เตรียมนำแผนงานและงบลงทุน 5 ปี (ปี 64-68) เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ ปตท.ในเดือน ธ.ค.นี้
นายอรรถพลกล่าวว่า ขณะนี้ความต้องการใช้น้ำมันทั้งเบนซินและดีเซลเริ่มกลับมาปกติหลังชะลอไปช่วงสถานการณ์โควิด-19 แต่น้ำมันอากาศยาน (JET) ยังฟื้นตัวกลับมาไม่ถึง 50% ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มปตท.บริหารจัดการในการผลิตน้ำมันของโรงกลั่นน้ำมันทั้ง 3 แห่งให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยให้บมจ.ไทยออยล์ (TOP) ผลิตน้ำมันอากาศยานเพียงรายเดียวในขณะนี้ ส่วน บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) และ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) ไม่ได้ผลิตน้ำมันอากาศยานเลยตั้งแต่ช่วงมีการล็อกดาวน์ประเทศ จนถึงในปัจจุบันโรงกลั่นทั้ง 2 แห่งก็ยังหยุดการผลิตน้ำมันอากาศยานอยู่
ส่วนสถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในตลาดจร (spot) ปัจจุบันพุ่งขึ้นสูงในระดับ 7 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ทำให้ความจำเป็นนำเข้าจากตลาด spot ลดลง และก็น่าจะลดแรงกดดันในการที่จะลดการเรียกรับก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยด้วย อย่างไรก็ตาม ในส่วนของราคาก๊าซ Pool ซึ่งเป็นราคาก๊าซฯ ที่มาจากอ่าวไทย, พม่า และ LNG นำเข้าตามสัญญานั้น มีทิศทางที่ลดลงต่อเนื่องในช่วงไตรมาส 4/63 ถึงช่วงต้นปี 64 เนื่องจากราคาส่วนหนึ่งผูกกับราคาน้ำมันย้อนหลัง 6-24 เดือน จะสะท้อนไปยังค่าไฟฟ้าที่ถูกลงด้วย
นายอรรถพลกล่าวว่า กลุ่ม ปตท.ได้วางเป้าหมายมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิสเพิ่มเป็นระดับ 8,000 เมกะวัตต์ (MW) เช่นเดียวกับพลังงานทดแทนในปี 2573 จากปัจจุบันที่มีไฟฟ้าจากฟอสซิลอยู่กว่า 5,000 เมกะวัตต์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอความชัดเจนโครงการ Gas to Power ซึ่งเป็นการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ ขนาด 600 เมกะวัตต์ ในพม่า คาดว่าจะมีความชัดเจนในปี 64 รวมถึงยังให้ความสนใจโครงการในเวียดนาม และอาเซียนด้วย
ส่วนแผนการหากำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนให้เพิ่มเป็น 8,000 เมกะวัตต์ภายในปี 73 จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิตกว่า 500 เมกะวัตต์นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาร่วมทุนหรือเข้าซื้อกิจการ (M&A) อยู่ 2-3 ดีลในต่างประเทศ คาดว่าจะมีความชัดเจนในไตรมาส 1/64 โดยดีลดังกล่าวไม่ได้อยู่ในอินเดีย เพราะกลุ่ม ปตท.อยู่ในช่วงศึกษาแผนการเข้าไปลงทุนเท่านั้น
การลงทุนธุรกิจไฟฟ้าของกลุ่ม ปตท.จะใช้ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) เป็นแกนนำ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ปตท.ได้ปรับโครงสร้างภายในธุรกิจไฟฟ้าบางส่วนด้วยการเพิ่มสัดส่วนถือหุ้นใน GPSC เป็น 31.72% จากเดิม 22.81% ช่วยเพิ่มศักยภาพการลงทุนให้ GPSC และจะทำให้ GPSC มีความคล่องตัวในการลงทุนโครงการต่างๆ เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายดังกล่าวของกลุ่ม ปตท.ด้วย
นายอรรถพลกล่าวถึงความคืบหน้าของการหาสาเหตุท่อส่งก๊าซฯ ระเบิดในพื้นที่จ .สมุทรปราการว่า ปตท.ได้ส่งชิ้นส่วนท่อก๊าซฯ และตัวอย่างดินในพื้นที่เกิดเหตุไปตรวจหาสาเหตุที่ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTECH) ซึ่งอยู่ระหว่างรอคำตอบ