ปตท.คาดปีหน้าอัดงบลงทุนสูงขึ้น จากแผนการตั้งโรงแยกก๊าซฯ หน่วย 7 ทดแทนโรงแยกก๊าซฯ หน่วย 1 วงเงิน 1 หมื่นกว่าล้านบาท และการเข้าซื้อกิจการโรงงานผลิตยาในต่างประเทศ
นางอรวดี โพธิสาโร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลยุทธ์องค์กร บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า กลุ่มปตท.ลงทุนปีละราว 2-3แสนล้านบาท โดยเป็นการลงทุนเฉพาะปตท. 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนตามแผนงานที่ได้รับอนุมัติแล้ว โดยปีหน้าปตท.คาดว่าจะใช้เงินลงทุนสูงกว่าปกติ เนื่องจากมีแผนลงทุนก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 7 แห่งใหม่และการลงทุนธุรกิจใหม่(New Business) คือธุรกิจยา
โดยโรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่7จะทดแทนโรงแยกก๊าซฯหน่วยที่1 ซึ่งเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ 30กว่าปี คาดว่าจะใช้เงินลงทุน 1 หมื่นกว่าล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างหาผู้รับเหมา คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี2564 และแล้วเสร็จในปี2566 โดยโรงแยกก๊าซฯ หน่วยที่7 นี้จะมีกำลังการผลิตเท่ากับโรงแยกก๊าซฯหน่วยที่1 หรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปัจจุบันผลิตอยู่350 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน แต่จะมีประสิทธิภาพที่ดีช่วยลดต้นทุนพลังงาน ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยลดลง
สาเหตุที่โรงแยกก๊าซฯหน่วย7 ไม่เพิ่มกำลังการผลิตให้สูงกว่าโรงแยกก๊าซฯหน่วย 1 นั้น เนื่องจากปริมาณก๊าซฯในอ่าวไทยมีไม่มาก รวมทั้งกลุ่มปตท.ไม่มีแผนตั้งโรงงานผลิตโอเลฟินส์เพิ่ม โดยโนรงแยกก๊าซฯแห่งใหม่จะก่อสร้างในพื้นที่ใหม่ ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าคลังรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG)มาบตาพุด
ส่วนธุรกิจยาถือเป็นธุรกิจ Life Science ซึ่งเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่บริษัทให้ความสนใจ โดยเตรียมจัดตั้งบริษัทใหม่เพื่อเข้าไปลงทุนซื้อกิจการโรงงานผลิตยาในต่างประเทศ โซนเอเชีย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบสถานะและบัญชี ธุรกิจ(Due diligence) คาดว่าปีหน้าจะได้ข้อสรุป
นอกจากนี้ปตท.ยังเน้นลงทุนในธุรกิจพลังงานใหม่ (New Energy)ซึ่งเป็นการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีด้านพลังงาน อย่าง Storage/Grid Network/Smart Energy Platform และEV Charging Station ซึ่งรวมถึงสายโซ่ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ปัจจุบันกลุ่มปตท.อยู่ระหว่างก่อสร้างโรงงานแบตเตอรี่ต้นแบบ ก็มองโอกาสต่อยอดในการตั้งโรงงานรถอีวีในอนาคตด้วย แต่การจะลงทุนยังต้องขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยทั้งนโยบายส่งเสริมจากภาครัฐด้วย
“นโยบายรัฐให้การส่งเสริมอีวีมากขึ้น ปตท.เตรียมพร้อมศึกษาเรื่องโรงงานแบตเตอรี่ แต่การจะทำแบตเตอรี่ได้ก็ต้องมีรถมารองรับ มองเรื่อง Value chain แบตเตอรี่ ก็ต้องมีโรงงานผลิตรถยนต์ ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษาของกลุ่มปตท.เพื่อทำ Value chain มีรถยนต์ มีแบตเตอรี่ และอาจจะมี Energy Storage”นางอรวดี กล่าว
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบในช่วง 2 ปีข้างหน้ายังคงเคลื่อนไหวระดับต่ำจากสถานการณ์โควิด-19 และคาดว่าจะเริ่มดีขึ้นในปี 2565 ก่อนจะเข้าสู่สภาพเดิมหลังมีวัคซีน ทำให้คาดว่าสถานการณ์ราคาจะกลับสู่ปกติในปี 2566ที่กว่า 50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ขณะที่ระยะยาวหลายฝ่ายมองว่าสภาวะ peak oil ซึ่งเป็นภาวะที่การใช้น้ำมันเริ่มมีแนวโน้มลดลงนั้นจะเกิดขึ้นในปี 2573 แต่ในส่วนของไทยอาจจะมากกว่าปี 2573 เพราะการขนส่งของไทยส่วนใหญ่ยังใช้น้ำมันอยู่