“ศักดิ์สยาม” เร่ง รฟท.จดทะเบียนตั้งบริษัทลูกทรัพย์สินใน พ.ย. เคาะชื่อ บ.เอสอาร์ที แอสเซท จำกัด วางโครงสร้างมีบริษัทย่อย รถไฟถือหุ้นต่ำกว่า 50% หลุดรัฐวิสาหกิจเน้นคล่องตัว พร้อมจี้เคลียร์ปมค่า VO หมื่นล้านสายสีแดง หากไม่จบเปิดเดินรถไม่ได้
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากการประชุมเพื่อเตรียมจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อบริหารทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้แจ้งว่า จะมีการดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทแล้วเสร็จภายใน 1 เดือน โดยจะใช้ชื่อ “บริษัท บ. เอสอาร์ที แอสเซท จำกัด” มีผู้ก่อตั้งบริษัทเริ่มต้นจำนวน 3 คนตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่ง รฟท.ถือหุ้นในบริษัทลูก 100% จึงยังมีสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจ ส่วนคณะกรรมการบริษัทฯ จะมีผู้แทน รฟท.ซึ่งคาดว่าจะเป็นระดับรองผู้ว่าฯ รฟท., ผู้แทนกระทรวงการคลัง และผู้ทรงคุณวุฒิ ฯลฯ รวมประมาณ 9 คน
ทั้งนี้ โครงสร้างและรูปแบบการบริหารภารกิจของบริษัทลูกทรัพย์สินจะต้องมีความคล่องตัว แต่จะไม่อิสระมากเกินไปจน รฟท.ในฐานะบริษัทแม่กำกับดูแลไม่ได้
นอกจากนี้ ภายใต้บริษัทลูก บริหารทรัพย์สินของ รฟท.จะมีการจัดตั้งบริษัทย่อยอีกประมาณ 3 บริษัท เช่น บริษัทที่ดูแลปัญหาที่ดินบุกรุก, บริษัทดูแลที่ดินที่มีศักยภาพสามารถพัฒนาได้ เป็นต้น ซึ่ง รฟท.จะถือหุ้นในบริษัทย่อยไม่ถึง 50% มีพาร์ตเนอร์ถือ 47-48% หุ้นบุริมสิทธิอีกประมาณ 3% จะหลุดจากความเป็นรัฐวิสาหกิจ ทำให้การทำงานเกิดความคล่องตัวมากขึ้น ซึ่งการตั้งบริษัทย่อยจะต้องไม่ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายเพิ่ม ขณะเดียวกันจะต้องมีแนวทางในการสร้างรายได้เพิ่ม โดยให้ทำหน้าที่การพัฒนาที่ดินแทนรฟท.บริหารสัญญาให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่วน รฟท.ยังเป็นเจ้าของทรัพย์สินและที่ดินทั้งหมดเหมือนเดิม จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาความคืบหน้าอีกครั้งปลายเดือน พ.ย.นี้
“รฟท.มีที่ดินที่มีศักยภาพจำนวนมาก เช่น สถานีกลางบางซื่อมักกะสัน ย่านสถานีแม่น้ำ เลียบถนนรัชดา ที่ดินบริเวณ RCA หากบริหารจัดการให้ดี รฟท.จะมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกมาก ซึ่งปัจจุบันรถไฟมีรายได้จากที่ดินเพียง 1% ถือว่าต่ำมาก หากเทียบกับศักยภาพทำเล รฟท.ควรมีรายได้ไม่น้อยกว่า 4% ผมให้รฟท.ศึกษาแนวทางและรูปแบบการตั้งบริษัทลูกจากบริษัท และรัฐวิสาหกิจที่ประสบความสำเร็จ เช่น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งหลังจากตั้งบริษัทลูกแล้วยังมีการตั้งบริษัทย่อยลงไปอีก”
จี้ รฟท.เคลียร์ปมค่า VO หมื่นล้าน-ไม่จบเปิดรถไฟสีแดงไม่ได้
นายศักดิ์สยามกล่าวถึงกรณีที่ รฟท.จะเป็นผู้เดินรถไฟสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต เองว่า ได้ให้โจทย์กับ นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าฯ รฟท.ไปแล้วว่าจะต้องแก้ปัญหาที่มีให้จบทุกมิติก่อน โดยเฉพาะ ปัญหาค่างานก่อสร้างเพิ่มเติม หรือ Variation Order (VO) ประมาณ 10,345 ล้านบาท หากปัญหาเหล่านี้แก้ไม่จบ การเดินรถสายสีแดงคงทำไม่ได้ เพราะอาจจะมีปัญหาฟ้องร้องตามมา ซึ่งให้ รฟท.เร่งหาความชัดเจนโดยเร็ว เนื่องจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) จะมาพบภายใน 2 สัปดาห์นี้ และจะมีการหารือถึงโครงการรถไฟสายสีแดงเพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาด้วย
ส่วนกรณีที่บริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (แอร์พอร์ตเรลลิงก์) เข้ามาเดินรถไฟสายสีแดงนั้น ตนไม่ได้ขัดข้องใดๆ แต่แอร์พอร์ตลิงก์จะต้องพิสูจน์ตัวเองว่ามีประสิทธิภาพในการเดินรถสีแดงได้จริง ซึ่งปัจจุบันแอร์พอร์ตลิงก์รับจ้าง รฟท.เดินรถ ยังมีปัญหาสภาพคล่อง แอร์พอร์ตลิงก์ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าทำได้ไม่มีปัญหา เพราะหากบริหารไม่ได้ใครจะกล้ามอบให้ไปบริหารสายสีแดง
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ รฟท.ได้รับสมัครพนักงานชั่วคราว 250 คนเพื่อเตรียมพร้อมด้านบุคลากรสำหรับเดินรถสายสีแดงคู่ขนานไปด้วย