“ถาวร” ประชุมระดับรัฐมนตรี GMS ครั้งที่ 24 โดยมีการรับรองร่างแถลงการณ์ร่วม และตั้งคณะทำงานหาแนวทางปฏิบัติ จ้างแรงงานและการเคลื่อนย้ายที่ไม่ให้มีการแพร่ระบาดเชื้อโควิด
นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะผู้แทนรัฐมนตรีประจำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS Minister) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนเจ้าหน้าที่ไทยเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี แผนงาน GMS ครั้งที่ 24 (24th GMS Ministerial Conference) ผ่านระบบการประชุมทางไกล ภายใต้หัวข้อ “มุ่งปูทางเพื่อการบูรณาการที่เพิ่มขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อความยั่งยืน และความเจริญมั่งคั่งในอนุภูมิภาค GMS” ซึ่งกระทรวงการคลัง สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมร่วมกับธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 ณ ห้องราชดำเนิน กระทรวงคมนาคม
ในการประชุมครั้งนี้มีรัฐมนตรีประจำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS Minister) และประเทศสมาชิก ได้แก่ นายซก เจนดา โซเพีย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการสภาเพื่อการพัฒนาแห่งกัมพูชา ราชอาณาจักรกัมพูชา ดร.กิแก้ว จันทะบุลี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแผนการและการลงทุน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นายภารัต ซิงห์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการลงทุนและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สาธารณรัฐ แห่งสหภาพพม่า นายทราน ก๊วก พึง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวางแผนและการลงทุน สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม พร้อมด้วยผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชนจากประเทศสมาชิก GMS และองค์กรผู้ร่วมพัฒนา เข้าร่วมประชุม โดยมี นางสาวโซว เจียหยี่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นประธานการประชุม ร่วมกับนายอาเหม็ด เอ็ม ซาอิด รองประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย
ทั้งนี้ รัฐมนตรี GMS ได้ร่วมกันให้การรับรอง 1) ร่างแถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรีแผนงาน GMS ครั้งที่ 24 (Joint Ministerial Statement) 2) รายงานความก้าวหน้าและการปรับปรุง ครั้งที่ 3 กรอบการลงทุนของภูมิภาค ปี 2565 (RIF 2022 : 3rd Progress Report and Update) และ 3) แนวทางการจัดตั้งคณะทำงานด้านการเคลื่อนย้ายแรงงาน (Labor Migration) ใน GMS ซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเห็นว่าจำเป็นต้องร่วมกันหาแนววิธีปฏิบัติการจัดจ้างแรงงาน การเคลื่อนย้ายแรงงาน และการส่งกลับแรงงานที่ปลอดภัยต่อสุขภาพและสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นการดำเนินการร่วมกันเพื่อป้องกัน และบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 และลดปัญหาเชิงสังคมเนื่องจากการเคลื่อนย้ายแรงงานผิดกฎหมาย ทั้งนี้ ขอให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นหน่วยงานหลักในการจัดตั้งคณะทำงานฝ่ายไทย โดยมีผู้แทนระดับอธิบดีหรือรองอธิบดีจากกระทรวงแรงงานเป็นหัวหน้าคณะทำงานต่อไป
นอกจากนี้ รัฐมนตรี GMS ร่วมกันให้ความเห็นชอบในหลักการร่างเอกสาร จำนวน 2 ฉบับ เพื่อนำเสนอต่อการประชุมสุดยอดผู้นำ แผนงาน GMS ครั้งที่ 7 (7th GMS Summit) ในเดือนมีนาคม 2564 ได้แก่ ร่างกรอบยุทธศาสตร์ใหม่ของแผนงาน GMS ในระยะปี 2575 (New GMS Strategic Framework 2030) ซึ่งได้รวบรวมแผนการดำเนินการและมาตรการเพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 และมีสอดคล้องกับประเด็นภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของประเทศไทย และร่างเอกสารแผนการฟื้นฟูและตอบสนองต่อผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ซึ่งสอดคล้องกับแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 พ.ศ. 2564-2565 โดยสนับสนุนให้คณะทำงานด้านสุขภาพ (Health Cooperation Sector) ภายใต้แผนงาน GMS เป็นตัวหลักในการทำหน้าที่ดูแลและติดตามการได้มาของวัคซีน ทั้งนี้ เพื่อการกระจายวัคซีนใน GMS อย่างเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ
นายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม ได้เน้นย้ำเจตนารมณ์ของไทยในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาไทยได้ลงนามในสัญญาจ้างงานระบบราง ระบบไฟฟ้า เครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร โครงการรถไฟความเร็วสูงภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับจีน วงเงิน 50,633 ล้านบาท เพื่อยกระดับให้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยตามแนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (NSEC)
นอกจากนี้ เพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ได้เร่งให้ภาครัฐเห็นถึงความสำคัญในเรื่องการอำนวยความสะดวกกิจกรรมทางเศรษฐกิจข้ามพรมแดน ภายใต้ความตกลงการอำนวยความสะดวกคมนาคมขนส่งข้ามพรมแดนใน GMS หรือความตกลง CBTA โดยเฉพาะเร่งปรับปรุงกฎระเบียบ การดำเนินงานในด่านพรมแดนและโลจิสติกส์ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันและมีความปลอดภัย เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ