นายกฯ ย้ำไทยใช้เวทีลุ่มน้ำโขงสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน ผนึกกำลัง 6 ประเทศ ดันโครงการลงทุนและวิชาการ มูลค่ารวม 7.83 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ
วันนี้ (7 พ.ย.) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้มีการประชุมระดับรัฐมนตรีแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS) ประกอบด้วย กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม ไทย และจีน ครั้งที่ 24 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมี นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้แทนรัฐบาลไทยเข้าร่วมประชุม ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้การสนับสนุนความร่วมมือของกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงนี้เป็นอย่างมาก โดยเน้นย้ำให้ถือเป็นเวทีสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนต่างประเทศที่สนใจเข้ามาลงทุนในสาขาที่ประเทศไทยมีศักยภาพเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ส่งเสริมการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย สู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งเป็นโอกาสของประเทศในการนำเสนอบทบาทความเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ในอนุภูมิภาค ทั้งการพัฒนาระบบถนน ระบบราง และด่านพรมแดน ทั้งนี้ยังมีประโยชน์ที่จะเกิดจากการร่วมกันหาทางแก้ปัญหาทางด้านสังคม สาธารณสุข การศึกษา และการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามพรมแดน อีกด้วย
อนึ่ง ผลการประชุมรัฐมนตรีเป็นที่น่าพอใจ เห็นสัญญาณของความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและการพัฒนาในหลายมิติร่วมกัน ประเทศสมาชิกเห็นพ้องในกรอบการลงทุนของอนุภูมิภาค ปี 2565 ซึ่งประกอบด้วย แผนงานโครงการลงทุนและโครงการความช่วยเหลือทางวิชาการ รวมทั้งสิ้น 205 โครงการ มูลค่ารวมกันกว่า 7.83 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (2.35 ล้านล้านบาท) โดยในรอบปีที่ผ่านมามีโครงการมูลค่ารวม 267 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ ในส่วนโครงการของประเทศไทย มี 74 โครงการ มูลค่ารวม 1.78 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 22.7% ของโครงการในกรอบความร่วมมือฯ ทั้งนี้ โครงการมูลค่าการลงทุนสูงที่ได้เริ่มดำเนินการแล้ว ได้แก่ โครงการพัฒนารถไฟทางคู่ในประเทศ 1.21 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่สาม 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ และโครงการพัฒนาเส้นทางรถไฟเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ 2.28 พันล้านเหรียญสหรัฐ
มากไปกว่านั้น น.ส.รัชดากล่าวว่า ที่ประชุมยังได้เห็นชอบในหลักการ 2 เรื่องด้วยกัน คือ 1) กรอบยุทธศาสตร์ใหม่ของแผนงาน GMS ในระยะปี 2575 ซึ่งเป็นการรวบรวมแผนการดำเนินการและมาตรการเพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ซึ่งสอดคล้องกับประเด็นภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติของไทย และ 2) ร่างเอกสารแผนการฟื้นฟูและตอบสนองต่อผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 สนับสนุนให้คณะทำงานด้านสุขภาพ (Health Cooperation Sector) ภายใต้แผนงาน GMS เป็นตัวหลักในการทำหน้าที่ดูแลและติดตามการได้มาของวัคซีน เพื่อการกระจายวัคซีนใน GMS อย่างเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ