“ประยุทธ์” ลงนามสัญญา 2.3 โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน วงเงิน 5 หมื่นกว่าล. เชื่อมั่นเชื่อมโยง 2 ชาติ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ส่งเสริมเศรษฐกิจ ความเชื่อมโยงทางคมนาคม และความสัมพันธ์ในระดับประชาชน
วันนี้ (28 ต.ค.) เวลา 15.00 น. ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีลงนามในสัญญาจ้างงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร (สัญญา 2.3) ของโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) ภายหลังเสร็จสิ้น นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรียืนยันรัฐบาลให้ความสำคัญต่อโครงการความร่วมมือฯ นี้ เนื่องจากเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเป็นกลไกในการพัฒนาประเทศ และภูมิภาค โดยเฉพาะหัวเมืองหลักตามแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ซึ่งจะสามารถต่อยอดและพัฒนาเป็นเมืองศูนย์กลางของภูมิภาค เส้นทางนี้เปรียบเสมือนสายใยเชื่อมโยงไทยกับจีนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และสะท้อนให้เห็นถึง
ความมุ่งมั่นระหว่างกันในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ และความเชื่อมโยงทางคมนาคม ตลอดจนส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนกับประชาชนให้มากยิ่งขึ้น
การลงนามนี้เป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้พัฒนาเทคโนโลยีระหว่างกัน เชื่อมั่นว่าไทยจะนำองค์ความรู้มาสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน ประเทศ และภูมิภาคต่อไป
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีขอบคุณกระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทย ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการ และบริษัทคู่สัญญาของโครงการ ตลอดจนผู้ปฏิบัติงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน ที่ล้วนเป็น “กำลังสำคัญ” ในการผลักดันโครงการให้สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย เพื่อให้ประชาชนได้ใช้บริการรถไฟความเร็วสูง โดยสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย เปรียบดังคำกล่าวที่ว่า “ถง ซิน เสีย ลี่, ซื่อ ซื่อ ซุ่น ลี่” หมายความว่า “น้ำหนึ่งใจเดียว ทุกเรื่องราบรื่น”
ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิธีลงนามในสัญญาจ้างงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล จัดหาขบวนรถไฟ และจัดฝึกอบรมบุคลากรของโครงการความร่วมมือระหว่างไทย – จีน (สัญญา 2.3) วงเงิน 50,633.50 ล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพฯ - หนองคาย (ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ - นครราชสีมา) ระยะทาง 253 กม.
โครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา จะมีทั้งสิ้น 6 สถานี ได้แก่ กรุงเทพฯ (บางซื่อ) ดอนเมือง อยุธยา สระบุรี ปากช่อง และนครราชสีมา โดยฝ่ายไทยจะลงทุนโครงการทั้งหมดและดำเนินการก่อสร้างงานโยธา ส่วนฝ่ายจีนรับผิดชอบการออกแบบรายละเอียดงานโยธา ควบคุมงานการก่อสร้างโยธา ออกแบบและติดตั้งงานระบบรางและระบบไฟฟ้า เครื่องกล ระบบควบคุมการเดินรถและจัดนำขบวนรถไฟความเร็วสูง ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการก่อสร้างช่วงสีคิ้ว - กุดจิก ที่คืบหน้าไปแล้วกว่า 42% และคาดว่าโครงการนี้จะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบได้ในปี 2569
เส้นทางรถไฟความเร็วสูงนี้จึงเปรียบเสมือนสายใยเชื่อมโยงไทย – จีน ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ด้วยความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ เชื่อมโยงการเดินทางให้หัวเมืองหลักเป็นเมืองศูนย์กลางของภูมิภาค และยังเป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้พัฒนาเทคโนโลยีระหว่าง 2 ประเทศ เพื่อนำมาต่อยอดให้เกิดประโยชน์กับประชาชน ประเทศ และภูมิภาคต่อไป