บอร์ด กทพ.อนุมัติงบ 38 ล้านติดตั้งระบบ M-Flow เลิกไม้กั้น นำร่อง 2 ด่าน “รามอินทรา-อาจณรงค์” มิ.ย. 64 พร้อมเคาะยกเว้นค่าผ่านทางช่วงหยุดยาว พ.ย. และ ธ.ค. รวม 12 วัน เพิ่มความสะดวกเดินทาง คาดสูญ 196 ล้าน
นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมบอร์ด กทพ.เมื่อวันที่ 22 ต.ค. ได้มีมติเห็นชอบตามที่ กทพ.เสนอขอใช้งบสำรองในกรณีจำเป็นเร่งด่วนในการลงทุนเพื่อดำเนินงานระบบเก็บค่าผ่านทางพิเศษแบบไม่มีไม้กั้น (Multi-Lane Free Flow) หรือ M-Flow ในรูปแบบและมาตรฐานเดียวกัน (Single Platform System) จำนวน 38 ล้านบาท เพื่อดำเนินการในส่วนของโครงสร้างและระบบซอฟต์แวร์ โดยจะเชื่อมต่อข้อมูลกับระบบของกรมทางหลวง (ทล.) ที่จะใช้ดำเนินการกับระบบเก็บค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์ โดย กทพ.จะเริ่มนำร่องที่ทางพิเศษฉลองรัฐ (รามอินทรา-อาจณรงค์) จำนวน 2 ด่าน คือ ด่านสุขาภิบาล 5 และด่านลาดพร้าว โดยให้ กทพ.ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบพัสดุ และคาดว่าจะเริ่มติดตั้งในเดือน ก.พ. 2564 ใช้เวลา 4 เดือน ให้บริการได้ในเดือน มิ.ย. 2564
ทั้งนี้ บอร์ดได้ให้ กทพ.ทำแผนการพัฒนาและขยายการบริการไปยังทางด่วนสายอื่นๆ รวมถึงทางด่วนในสัญญาสัมปทานกับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เพื่อให้การบริการเป็นรูปแบบเดียวกันทั้งหมด โดยให้นำเสนอแผนต่อที่ประชุมบอร์ด กทพ.ในคราวหน้า
@อนุมัติยกเว้นค่าผ่านทางหยุดยาว พ.ย. และ ธ.ค. คาดสูญรายได้ 196 ล้าน
นอกจากนี้ ที่ประชุมบอร์ด กทพ.ยังมีมติเห็นชอบยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษบูรพาวิถี (ทางพิเศษสายบางนา-ชลบุรี) และทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) ช่วงวันหยุดต่อเนื่องตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือน พ.ย. รวม 6 วัน และเดือน ธ.ค. รวม 6 วัน ซึ่งคาดว่าจะสูญเสียรายได้จากการให้ใช้บริการฟรีทั้ง 2 ช่วง มูลค่าประมาณ 196 ล้านบาท
กทพ.ได้รับความเห็นชอบจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) กรณีการยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษบูรพาวิถีในช่วงหยุดยาวดังกล่าวด้วย เนื่องจากจะมีผลทำให้รายได้ของกองทุน TFF หายไปจำนวนหนึ่งแล้ว
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนในช่วงวันหยุดยาวเพื่อท่องเที่ยวและกลับภูมิลำเนาตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม โดยหลังจากนี้จะเสนอเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคมเพื่อให้ รมว.คมนาคมลงนามในประกาศกระทรวงฯ และรายงานต่อ ครม.เพื่อทราบ
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) ทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) และทางพิเศษอุดรรัถยา (ทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด) นั้น กทพ.ได้ทำหนังสือไปเพื่อขอความร่วมมือไปยัง บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM และบริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ (NECL) แล้ว ทั้งนี้ จะต้องพิจารณาไปตามเงื่อนไขสัญญาสัมปทานที่จะมีการยกเว้นค่าผ่านทาง ในวันหยุดนักขัตฤกษ์