ความจริงอีกด้านจากเหตุการณ์ท่อก๊าซระเบิด พบถนนเทพราช-ลาดกระบัง 20 กิโลเมตร ก่อสร้างเจ็ดชั่วโคตร 4 ปีผ่านไปยังไม่เสร็จ เคยมีรถเกือบตกหลุม แถมตอนฝนตกเละตุ้มเป๊ะ ทั้งที่เป็นความหวังใช้เป็นทางเลือก จากแปดริ้วไปลาดกระบัง ไม่ต้องเสียตังค์ด่านมอเตอร์เวย์
วันนี้ (23 ต.ค.) จากกรณีที่เกิดโศกนาฏกรรม ท่อส่งก๊าซธรรมชาติไปยังนิคมอุตสาหกรรมเอเซีย (สุวรรณภูมิ) เกิดระเบิดขึ้นเมื่อเวลา 13.22 น. ของวันที่ 22 ต.ค. บริเวณตรงข้ามวัดเปร็งราษฎร์บำรุง ถนนเทพราช-ลาดกระบัง ต.คลองสวน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ เหตุการณ์นี้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บ 66 คน กลับบ้านได้แล้ว 37 คน ที่เหลือยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ขณะที่บ้านเรือนเสียหาย 34 ครัวเรือน รถยนต์ 62 คัน รถจักรยานยนต์ 59 คัน ร้านค้า 7แห่ง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เยียวยาผู้เสียชีวิตรายละ 5 ล้านบาท และชดเชยให้ตามผลกระทบที่ได้รับ
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า ท่อส่งก๊าซธรรมชาติแห่งนี้ได้วางตามแนวเสาไฟฟ้าแรงสูง ผ่านถนนเทพราช-ลาดกระบัง หรือทางหลวงชนบท ฉช.3001 แยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 314-ลาดกระบัง อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม กำลังก่อสร้างเป็นถนนผิวจราจรแอสฟัลติกคอนกรีต ขนาด 4 ช่องจราจร พร้อมไหล่ทาง (นอกเขตชุมชน) และขนาด 6 ช่องจราจร พร้อมทางเท้า (ในเขตชุมชน) และก่อสร้างสะพานรวม 10 แห่ง โดยมีสะพานขนาดใหญ่ ได้แก่ สะพานข้ามคลองแขวงกลั่น สะพานข้ามคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต สะพานข้ามคลองกระแซงเตย รวมระยะทาง 20.329 กิโลเมตร
โครงการนี้ใช้งบประมาณ 3,712.809 ล้านบาท การก่อสร้างแบ่งออกเป็น 2 สัญญา คือ สัญญาที่ 1 กิโลเมตรที่ 0+000 ถึง 11+000 บริษัท กรีนไลท์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และสัญญาที่ 2 กิโลเมตรที่ 11+000 ถึง 20+329 บริษัท นภาก่อสร้าง จำกัด เริ่มต้นสัญญา 1 สิงหาคม 2559 สิ้นสุดสัญญา 16 กันยายน 2563 โดยผ่านการขยายระยะเวลาก่อสร้างรวม 548 วัน แต่จนถึงปัจจุบันนี้การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ และได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านบ่อยครั้ง เช่น เมื่อวันที่ 7 ก.ย. ที่ผ่านมา รถยนต์คันหนึ่ง ชนเข้ากับแบริเออร์ ที่หลุมก่อสร้าง เกือบทำให้รถตกลงไปในหลุมขนาดใหญ่ ตรงจุดนั้นไม่มีป้าย ไม่มีไฟส่องสว่าง หรือสัญญาณเตือนว่าเป็นจุดก่อสร้างแต่อย่างใด หลังเกิดเหตุได้เข้าแจ้งความไว้ที่ สภ.เปร็ง จังหวัดสมุทรปราการ
นอกจากนี้ ยังพบว่า ถนนบางช่วงระหว่างการก่อสร้างมีสภาพเป็นหลุมเป็นบ่อ และมีน้ำท่วมขังเวลาฝนตกอีกด้วย ที่ผ่านมาถนนเส้นนี้เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง และความหวังของชาวชุมชนที่จะเดินทางจากจังหวัดฉะเชิงเทรา ไปยังกรุงเทพฯ โดยไม่ต้องเสียเงินค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์หมายเลข 7 ไม่ต้องอ้อมไปยังถนนเทพรัตน (บางนา-ตราด) และถนนสุวินทวงศ์ แต่ถึงขณะนี้ถนนยังไม่แล้วเสร็จ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ กรมทางหลวงชนบท ระบุว่า ถนนสายนี้คืบก้าวหน้าไปแล้วกว่า 76% โดยอยู่ระหว่างการก่อสร้างผิวจราจรและโครงสร้างสะพานส่วนบน คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ประมาณปลายปี 2563