อย่าด่วนสรุปเป็นเพราะ “แบ็กโฮ” กรณีท่อก๊าซธรรมชาติระเบิดที่บ้านเปร็ง บางบ่อ จ.สมุทรปราการ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ แนะหาคำตอบ “ทำไมท่อก๊าซฝังลึก 5 เมตร ดันขึ้นเหนือพื้นดิน” อาจพบสาเหตุระเบิด
รายงานพิเศษ
เหตุท่อส่งก๊าซธรรมชาติระเบิด ที่บ้านเปร็ง อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บ 52 ราย ถูกตั้งข้อสันนิษฐานเบื้องต้นหลังเกิดเหตุว่า อาจเกิดจากการทำถนนใหม่ และมีรถแบ็กโฮไปขุดดิน ถูกช่วงข้อต่อของท่อส่งก๊าซจนเกิดเหตุ
แต่หลายฝ่ายยังไม่เห็นด้วยกับสมมติฐานนี้ เพราะมองว่าเป็นการด่วนสรุปเกินไป
นายสมนึก จงมีวศิน นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ภาคตะวันออก เห็นว่า ยังไม่ควรรีบสรุปเร็วเกินไป ว่า การระเบิดเกิดจากรถแบ็กโฮไปขุดโดนท่อเท่านั้น เพราะมีความเป็นไปได้น้อยมากที่การขุดจะลึกลงไปโดนท่อ หรือทำให้ท่อส่งก๊าซรั่วจนระเบิดได้
จากภาพหลังเหตุไฟไหม้สิ้นสุดลง ทำให้เห็นจุดที่เกิดเหตุระเบิด มีท่อส่งก๊าซที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 36 นิ้ว มีแรงดันลอยขึ้นมาในแนวทแยงประมาณ 45 องศา ทั้งที่ท่อนี้ถูกฝังไว้ใต้ดินที่ความลึกถึง 5 เมตร
ทำให้ นายสมนึก ตั้งข้อสังเกตว่า การเคลื่อนไหวของท่อ เกิดจากมีแรงดันเกิดขึ้นหรือไม่?
เมื่อมาดูที่ปัจจัยของการเกิด “ระเบิด หรือ ไฟไหม้” อย่างที่รู้กันดีอยู่แล้ว คือ “เพลิง” จะเกิดขึ้นได้ต้องมีปัจจัย 3 ประการ คือ ออกซิเจน เชื้อเพลิง และประกายไฟ
ซึ่งในกรณีนี้ นายสมนึก ตั้งข้อสังเกตว่า มีออกซิเจนในอากาศอยู่แล้ว มีความเป็นไปได้หลายอย่างที่จะเกิดประกายไฟโดยเฉพาะเป็นสถานที่ใกล้กับเสาไฟฟ้าแรงสูง
แต่ที่ยังมีคำถามใหญ่ คือ “เชื้อเพลิง” ซึ่งก็คือ “ก๊าซ” หลุดรอดออแกมาผสมกับปัจจัย 2 อย่างที่เหลือได้อย่างไร เพราะหากไม่มีก๊าซออกมาจากท่อ ก็จะไม่เกิดเพลิงไหม้หรือระเบิดขึ้น
นายสมนึก ยังตั้งข้อสังเกตสำคัญอีก 1 ข้อ คือ ช่วงที่เกิดระเบิด เห็นได้จากคลิปต่างๆ หลายมุมว่า มีเหตุพลิงไหม้เกิดขึ้นอยู่นานมาก ทั้งที่โดยปกติแล้วตามแนวท่อส่งก๊าซ จะต้องมีสิ่งที่เรียกว่าสถานีวาล์ว (Valve Station) เพื่อให้สามารถปิดหรือตัดเชื้อเพลิงออกได้ทันทีที่เกิดการรั่ว
แต่การที่เพลิงลุกไหม้อยู่นาน ทำให้เกิดคำถามต่อการทำงานของสถานีวาล์ว รวมทั้งอาจต้องไปหาคำตอบว่า สถานีวาล์วที่ใกล้จุดเกิดเหตุที่สุด อยู่ในระยะห่างออกไปเท่าไหร่ และสถานีแต่ละแห่งอยู่ห่างกันกี่กิโลเมตร มีความถี่ที่เพียงพอหรือไม่หากเทียบกับแนวท่อส่งก๊าซของประเทศอื่นๆ
ส่วนสาเหตุอื่นๆ ที่นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมละสุขภาพ เห็นว่า ควรจะตรวจสอบก่อนรีบสรุปสาเหตุของการระเบิด เช่น พื้นที่บริเวณนั้นดินทรุดหรือไม่ หรือมีแรงดันอะไรทำให้ท่อถูดันลอยขึ้นมาข้างบน ทั้งที่ฝังไว้ลึกถึง 5 เมตร
ข้อต่อของท่อมีสภาพสมบูรณ์หรือไม่ เพราะท่อที่วางตามไลน์นี้ มีอายุประมาณ 20 ปีแล้ว ท่อที่ใช้เป็นไปตามมาตรฐาน API (American Petroleum Institute) หรือไม่
พร้อมเปิดเผยว่า ปัจจุบันมีข้อกำหนดให้ต้องตรวจสอบ ทำความสะอาด และสแกนสภาพของท่อส่งก๊าซ ด้วยวิธีที่เรียกว่า I-Pigging (Intelligent Pigging) ทุกๆ 5 ปี โดยมีประกาศกระทรวงพลังงานออกมาตั้งแต่ 22 ตุลาคม 2561
ซึ่งการทำแต่ละครั้งใช้เงินประมาณ 10-100 ล้านบาท ดังนั้นหน่วยงานรัฐอาจขอข้อมูลการตรวจสอบผ่าน Intelligent Pigging ของผู้ประกอบการมาพิจารณา เพื่อช่วยกันหาสาเหตุของการระเบิดได้ ถ้าผู้ประกอบการได้ทำการตรวจไปแล้ว
ปัจจุบันแนวท่อส่งก๊าซธรรมชาติ วางไปแล้ว 5 เส้นทาง มีจุดเริ่มต้นทั้งหมดอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ซึ่งตามหลักการแล้วทุกเส้นทางต้องมีป้ายเตือนตลอดแนวว่า เป็นแนววางทิ่ส่งก๊าซธรรมชาติ
และนี่เป็นสิ่งที่ต้องไปตรวจสอบทบทวนกันอีกครั้งหรือไม่?