xs
xsm
sm
md
lg

ส่งออก ก.ย.ลบแค่ 3.86% ฟื้นตัวดีขึ้น 3 เดือนติดต่อกัน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส่งออก ก.ย. 63 มีมูลค่า 19,621.32 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 3.86% ฟื้นตัวต่อเนื่อง 3 เดือนติด เผยอาหาร สินค้าทำงานที่บ้าน สินค้าป้องกันเชื้อโรค ยังคงเป็นพระเอกหลัก ส่วนกลุ่มอื่นฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่อง คาดทั้งปีลบ 7% ไม่หนักถึง 2 หลัก ชี้ปัจจัยเสี่ยงเพื่อนบ้านติดโควิด-19 ระบาดกระทบค้าชายแดน เลือกตั้งสหรัฐฯ มีผลต่อนโยบายการค้า ระบุการเมืองในประเทศไม่กระทบส่งออก แต่มีผลต่อการลงทุน

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือน ก.ย. 2563 มีมูลค่า 19,621.32 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 3.86% ถือเป็นการฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน โดย มิ.ย.ติดลบ 23.17% ก.ค.ติดลบ 11.37% และ ส.ค.ติดลบ 7.94% และยังเป็นสัญญาณดี เนื่องจากการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นมาจากการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้า ไม่ใช่ได้ผลดีจากการส่งออกทองคำ ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 17,391.20 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 9.08% เกินดุลการค้า 2,230.1 ล้านเหรียญสหรัฐ และยอดรวม 9 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-ก.ย.) มีมูลค่า 172,996.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.33% การนำเข้ามีมูลค่า 152,372.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 14.64% เกินดุลการค้ามูลค่า 20,623.7 ล้านเหรียญสหรัฐ

ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกฟื้นตัวดีขึ้นมาจากการฟื้นตัวของสินค้าส่งออกหลายกลุ่มที่ส่งออกติดลบน้อยลง และหลายๆ ตัวเริ่มขยายตัวได้ดีขึ้น โดยมีสินค้า 3 กลุ่มหลักที่ส่งออกเติบโตได้ดี คือ สินค้าอาหาร เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง เครื่องดื่ม สิ่งปรุงรสอาหาร และอาหารสัตว์เลี้ยง สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้านและเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้า และโซลาร์เซลล์ และสินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น ถุงมือยาง

ทั้งนี้ สินค้าหลายตัวยังคงส่งออกได้ลดลง เช่น น้ำตาลทราย ข้าว ยางพารา ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป อัญมณีและเครื่องประดับ ไม่รวมทองคำ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน และทองคำ

ทางด้านตลาดส่งออก มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น โดยตลาดหลักเพิ่ม 6.3% ได้แก่ สหรัฐฯ เพิ่ม 19.7% ญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป 15 ประเทศ อัตราติดลบดีขึ้น โดยลดลงเพียง 1.9% และ 4.4% ตลาดศักยภาพสูง ลด 8.1% โดยอาเซียน 5 ประเทศ ลด 15.6% CLMV ลด 4.8% และเอเชียใต้ ลด 6.3% แต่จีนกลับมาขยายตัว เพิ่ม 6.9% และตลาดศักยภาพระดับรอง ลด 10.1% โดยตะวันออกกลาง ลด 26.1% ละตินอเมริกา ลด 14.5% รัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ลด 31.5% ทวีปแอฟริกา ลด 15.3% แต่การส่งออกไปทวีปออสเตรเลีย เพิ่ม 2.1% เป็นบวกในรอบ 6 เดือน

สำหรับแนวโน้มการส่งออกของไทยถือว่าฟื้นตัวอย่างชัดเจน โดยการส่งออกไตรมาสที่ 4 คาดว่าจะส่งออกได้มูลค่า 56,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 6% ทำให้ยอดรวมทั้งปี 2563 จะส่งออกได้มูลค่า 228,904 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบประมาณ 7% ไม่ติดลบถึง 2 หลัก โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่จะต้องติดตาม คือ การระบาดของโควิด-19 ในพม่า ที่จะกระทบต่อการค้าชายแดนในระยะสั้น การเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่จะมีผลต่อนโยบายการค้า เพราะไม่ว่าใครจะมาเป็นประธานาธิบดีคนใหม่การทะเลาะกับจีนก็ยังคงมีอยู่ ส่วนการเมืองในประเทศ ไม่มีผลกระทบต่อการส่งออก แต่กระทบต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุน และมีผลต่อเนื่องต่อการส่งออก หากเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ไทยต้องการดึงลงทุน


กำลังโหลดความคิดเห็น