xs
xsm
sm
md
lg

โควิด-19 ดับฝันเอกชนนำเข้า LNG ปีนี้รัฐเบรกหลังราคาพุ่งการใช้ลดลง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สนพ.เสนอ “สุพัฒนพงษ์” เบรกนำเข้าแอลเอ็นจีเพิ่มในปี 63 หลังโควิด-19 กระทบการใช้ก๊าซฯ หดตัว รอดูสถานการณ์ปี 2564 อีกครั้ง ยื่นหลักเกณฑ์หากรายใดนำเข้าแล้วเกิดปัญหา Take or Pay ผู้นั้นต้องจ่าย ด้าน ครม.เห็นชอบแผนพีดีพี 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 แต่ให้ทบทวนใหม่และรวมแผนพลังงานเป็นแผนเดียว

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้รายงานต่อนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ถึงสถานความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในประเทศที่ลดลงจากผลกระทบโควิด-19 ที่กระทบต่อเศรษฐกิจ และสถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ตลาดโลกที่ล่าสุดราคาตลาดจร (Spot) ได้ปรับขึ้นมาถึงระดับ 6.6 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน หลังจากที่เข้าสู่ฤดูหนาว ความต้องการของจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ปรับตัวสูงขึ้นก็ส่งผลทำให้ราคาขยับขึ้น และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างความต้องการใช้ที่ลดลงกับปริมาณซื้อตามสัญญาทั้งอ่าวไทย-พม่า และการนำเข้าแอลเอ็นจีสัญญาระยะยาว (LONG TERM) ของ บมจ.ปตท.แล้วพบว่าปีนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องอนุมัติให้ผู้นำเข้ารายอื่น นอกเหนือ ปตท.นำเข้าแอลเอ็นจีเพิ่มเติมแต่อย่างใด

“สนพ.ได้เสนอทาง รมว.พลังงานแล้วว่าปีนี้คงไม่ต้องมีการนำเข้าเพิ่มเติมอีก แม้ว่าจะมีผู้ได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้นำเข้า หรือ Shipper จากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) แล้ว ประกอบไปด้วย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), กลุ่มบี.กริม, กลุ่มกัลฟ์ และโรงไฟฟ้าหินกองก็ตาม” นายวัฒนพงษ์กล่าว

ทั้งนี้ แนวทางการนำเข้าแม้จะเป็นไปตามนโยบายการเปิดเสรีกิจการก๊าซที่จะค่อยๆ ดำเนินการทีละขั้นตอนแต่การนำเข้า จะต้องดูถึง ปัญหาTAKE OR PAY หรือภาระที่ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย ที่ ปตท.ได้ทำไว้ในส่วนสัญญาระยะยาวและสัญญาอ่าวไทย-พม่า เพราะเป็นส่วนของความมั่นคงด้านพลังงาน โดยการอนุมัตินำเข้าจะต้องเป็น Room ในส่วนของนอกเหนือส่วนดังกล่าว และหาก Shipper รายใดต้องการนำเข้าเกิน Room แล้วเกิดปัญหา TAKE OR PAY ผู้นำเข้ารายนั้นจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งเกณฑ์ทั้งหมด รมว.พลังงานได้ให้ กกพ.ตอบคำถามประเด็นปัญหาต่างๆ แล้วจะนำเข้าคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ก่อนประกาศหลักเกณฑ์การนำเข้าต่อไป

นอกจากนี้ การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 20 ต.ค.ได้เห็นชอบแผนงานด้านพลังงาน ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) วันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2563 ได้แก่ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Rev.1) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 2561-2580 (AEDP 2018) แผนอนุรักษ์พลังงาน 2561-2580 (EEP 2018) และแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ 2561-2580 (Gas Plan 2018)

อย่างไรก็ตาม ได้ให้กระทรวงพลังงาน ดำเนินการตามข้อเสนอของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ให้ทบทวนแผนให้สอดรับกับคามต้องการเพื่อเสนอต่อ กพช.ต่อไป และให้รวมแผนพลังงานหลักของ ประเทศให้เหลือแผนเดียว จากปัจจุบันมี 5 แผน คือ แผนไฟฟ้า, น้ำมัน, พลังงานทดแทน, แผนอนุรักษ์พลังาน, แผนก๊าซธรรมชาติ ซึ่งอาจเรียกเป็นแผนพลังงานแห่งชาติ ปรับปรุงทุก 5 ปี เรื่องนี้ทางกระทรวงพลังงานจะมีการจัดดำเนินการรับฟังความคิดเห็นในปี 2564 และประกาศเป็นแผนพลังงานฉบับใหม่ในปี 2565 ซึ่งก็จะเป็นไปตามปีเดียวกับแผนของคณะกรรมการปฏิรูปพลังงาน
กำลังโหลดความคิดเห็น