“จุรินทร์” ปาฐกถาพิเศษผ่านทางไกล เปิดประชุมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจรอบอ่าวเป่ยปู้ ประกาศเพิ่มความร่วมมือเชิงลึกกับจีนเป็นรายมณฑล ผลักดันเชื่อมโยงระบบการขนส่ง เปิดทางสะดวกสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดจีน เจาะยาวถึงเอเชียกลางและยุโรป พร้อมชวนนักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนอีอีซี ร่วมเป็นหุ้นส่วนกับอาเซียน
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แสดงปาฐกถาพิเศษในช่วงพิธีเปิดการประชุมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจรอบอ่าวเป่ยปู้ ครั้งที่ 11 ผ่านระบบการประชุมทางไกล วานนี้ (15 ต.ค.) ว่า ความร่วมมือรอบอ่าวเป่ยปู้เป็นกรอบความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคที่มีความสําคัญภายใต้ความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับจีน และเป็นจุดยุทธศาสตร์สําคัญของเส้นทางสายไหมทางทะเล เป็นยุทธศาสตร์สําคัญในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้ากับอาเซียน และท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ยังเป็นจุดเชื่อมต่อการขนส่งที่สําคัญในการลําเลียงสินค้าในรูปแบบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ทั้งทางระบบราง ทางน้ำ ทางถนน และทางอากาศ โดยมีภูมิภาคตะวันตกของจีนกับอาเซียนเป็นแกนหลัก และยังสามารถขยายความเชื่อมโยงในการส่งออกสินค้าต่อไปยังทวีปเอเชียกลาง และยุโรปได้
ทั้งนี้ ในปัจจุบันการท่าเรือแห่งประเทศไทยได้มีความร่วมมือกับท่าเรืออ่าวเป่ยปู้ผ่านการจัดทําข้อตกลงท่าเรือพี่น้องระหว่างท่าเรือแหลมฉบังกับท่าเรือชินโจว เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ของจีน เพื่อขยายความร่วมมือด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ท่าเรือร่วมกัน และในช่วงหลายปีที่ผ่านมาท่าเรือแหลมฉบัง ได้เปิดเส้นทางเดินเรือมุ่งตรงสู่ท่าเรืออ่าวเป่ยปู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรทางบกที่ติดขัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและผลไม้สดของไทยที่จะส่งไปจีนได้สะดวกขึ้น
นายจุรินทร์กล่าวว่า ไทยมีนโยบายเร่งผลักดันความร่วมมือเชิงลึกกับมณฑลต่างๆ ของจีน ซึ่งรวมถึงมณฑลไห่หนาน ที่รัฐบาลจีนอยู่ระหว่างผลักดันให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือการค้าเสรีระดับโลก โดยกระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างการเจรจากับมณฑลไห่หนานเพื่อทำข้อตกลงการค้าเป็นการเฉพาะระหว่างกัน ครอบคลุม 4 ด้าน ได้แก่ 1. การส่งเสริม SMEs 2. การส่งเสริมนวัตกรรมและบริการสร้างสรรค์ เช่น ดิจิทัลคอนเทนต์ 3. การอํานวยความสะดวกในการจัดกิจกรรมทางการค้า และ 4. การส่งเสริมการค้าในรูปแบบ e-commerce จะเริ่มเห็นผลที่เป็นรูปธรรมภายในปีหน้า ซึ่งจะช่วยให้ทั้งสองประเทศได้ประโยชน์ร่วมกันเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ ไทยให้ความสำคัญต่อโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยขอเชิญชวนนักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซี โดยเฉพาะในสาขาธุรกิจที่มีศักยภาพในอนาคต เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เศรษฐกิจดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และไทยกับอาเซียนยังอยู่ระหว่างการขับเคลื่อนแผนแม่บทของอาเซียนว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน จึงขอเชิญชวนจีนให้เข้ามาเป็นหุ้นส่วนกับอาเซียน เพื่อเชื่อมโยงความร่วมมือด้านการขนส่งทั้งทางบกและทางทะเล ภายใต้ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative : BRI) ของจีนด้วย
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ไทยได้เข้าร่วมการประชุมมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งสมาชิกประกอบด้วยประเทศที่มีพรมแดนติดต่อกับอ่าวเป่ยปู้ (หรืออ่าวตังเกี๋ย) และทะเลจีนใต้ ได้แก่ จีน และสมาชิกอาเซียน 7 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน และไทย โดยกรอบความร่วมมือดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาให้อ่าวเป่ยปู้เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ขยายการค้าการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิก และที่ผ่านมารัฐบาลจีนให้การสนับสนุนและผลักดันกว่างซีให้เป็น “ประตูสู่อาเซียน” และเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมทางทะเลในทศวรรษที่ 21 และข้อริเริ่ม BRI ของจีน