“พาณิชย์” เผยผลศึกษาพบไทยมีโอกาสก้าวเป็น “ผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงเบอร์หนึ่งของโลก” เตรียมผลักดันเดินหน้า 4 ยุทธศาสตร์ ทั้งเพิ่มส่วนแบ่งตลาดจีน ผลิตสินค้าพรีเมียม ขยายบริการสัตว์ครบวงจร และพัฒนาดิจิทัลคอนเทนต์สัตว์เลี้ยง เหตุไทยมีจุดแข็งถึง 7 ด้าน ที่สามารถช่วยสนับสนุนการไปสู่เป้าหมายได้
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ได้ทำการศึกษาพบว่าไทยมีโอกาสจะขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงโลกได้ เพราะไทยมีจุดแข็งหลายด้าน และตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงโลกยังมีโอกาสเติบโตสูง หากไทยมีการพัฒนาและปรับปรุงข้อจำกัดบางอย่างจะทำให้เป้าหมายเป็นจริงได้ โดยมีข้อเสนอแนะที่จะต้องผลักดันรวม 4 ยุทธศาสตร์ คือ สินค้าเก่ารุกตลาดดาวรุ่ง, เพิ่มสินค้าพรีเมียม เน้นวัตถุดิบภายในประเทศ, สร้างความเข้มแข็งภาคบริการจากภายใน เพื่อต่อยอดสู่การส่งออกบริการ และส่งเสริมดิจิทัล คอนเทนต์เรื่องสัตว์เลี้ยง
สำหรับรายละเอียด 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1. สินค้าเก่ารุกตลาดดาวรุ่ง จะผลักดันให้เร่งขยายการส่งออกไปจีน และเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดในตลาดจีน ซึ่งในปัจจุบันไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 2 ของจีนมีสัดส่วนประมาณ 19% ขณะที่แคนาดาเป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 1 มีสัดส่วนประมาณ 45% แต่ไทยมีความได้เปรียบแคนาดาในหลายด้าน ทั้งภูมิศาสตร์และความสามารถทางการแข่งขัน
2. เพิ่มสินค้าพรีเมียม เน้นวัตถุดิบภายในประเทศ ตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงพรีเมียม เพื่อจะเพิ่มมูลค่าสินค้าส่งออก และเปลี่ยนการส่งออกที่เน้นแข่งขันด้วยราคา โดยให้ความสำคัญต่อคุณค่าทางอาหารที่สูงขึ้น สร้างความแตกต่างจากอาหารสัตว์เลี้ยงแบบเดิม โดยเร่งศึกษา วิจัย และพัฒนาวัตถุดิบที่มีคุณสมบัติแตกต่างและดีกว่าวัตถุดิบเดิม โดยให้ความสำคัญต่อการใช้วัตถุดิบภายในประเทศมากขึ้น และจะต้องเร่งขยายการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยง เช่น เสื้อผ้า ของเล่น อาหารว่าง และเตียง เป็นต้น
3. สร้างความเข้มแข็งภาคบริการจากภายใน เพื่อต่อยอดสู่การส่งออกบริการ จะเน้นการสร้างความเข้มแข็งด้านความเชี่ยวชาญการดูแลสัตว์อย่างครบวงจรภายในประเทศ เพื่อยกระดับสู่ผู้ให้คำปรึกษาหรือขยายธุรกิจการดูแลสัตว์เลี้ยงไปยังประเทศที่มีกำลังซื้อสูงอย่างจีน
4. ส่งเสริมดิจิทัล คอนเทนต์เรื่องสัตว์เลี้ยง เพราะการเติบโตของตลาดดิจิทัลคอนเทนต์ทำให้มีความต้องการเนื้อหาของสื่อเพื่อความบันเทิงในหลายด้าน รวมทั้งเนื้อหาที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงก็เป็นเรื่องที่ได้รับความนิยมสูง อีกทั้งการเพิ่มมิติสินค้า บริการด้านนี้ จะเป็นหนึ่งในช่องทางการสร้างรายได้ให้กับผู้ผลิตเนื้อหารายย่อยได้และให้กับประเทศอีกด้วย รวมทั้งจะช่วยชดเชยรายได้จากการส่งออกที่อาจจะลดลงในบางประเทศ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร โดยเฉพาะประเทศที่มีจำนวนประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้น จะมีการเลี้ยงสัตว์และการใช้จ่ายเพื่ออาหารสัตว์เลี้ยงน้อยลง เช่น ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น
น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า สำหรับจุดแข็งของไทย มีถึง 7 ด้าน ได้แก่ 1. ไทยมีต้นทุนทางการผลิตที่ต่ำกว่าประเทศคู่แข่งที่สำคัญ โดยเฉพาะต้นทุนด้านแรงงาน ซึ่งผู้ส่งออกที่มีส่วนแบ่งตลาดมากกว่าไทย ล้วนเป็นประเทศพัฒนาแล้ว เช่น เยอรมนี สหรัฐฯ และฝรั่งเศส เป็นต้น 2. ไทยมีความเชี่ยวชาญในการผลิต เนื่องจากการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงบางส่วนขยายกิจการ เพิ่มสายการผลิตมาจากการผลิตปลาทูน่ากระป๋อง ทำให้ผู้ผลิตสามารถต่อยอดความเชี่ยวชาญทั้งด้านการผลิตและวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะแรงงานที่ไม่ต้องปรับทักษะการผลิตเพิ่มเติมมากนัก และการเพิ่มสายการผลิตยังทำให้เกิดการประหยัดอีกด้วย (Economies of Scope)
3. ประเทศผู้นำเข้าอาหารสัตว์เลี้ยงของโลกส่วนมากเป็นประเทศที่มีกำลังซื้อสูง หรือรายได้ต่อหัวสูง รวมทั้งมีมาตรฐานการเลี้ยงสัตว์สูง ทำให้เต็มใจจ่ายในสินค้าที่ราคาและคุณภาพพรีเมียม 4. ไทยได้ประโยชน์จากการเติบโตการนำเข้าของประเทศสำคัญ พบว่าการนำเข้าของสหรัฐฯ จีน เกาหลีใต้ และเยอรมนี มีการเติบโตได้สูงกว่าประเทศอื่นๆ และส่วนแบ่งตลาดของไทยยังเพิ่มขึ้นอีกด้วย สะท้อนถึงความสามารถทางการแข่งขันของผู้ส่งออกไทยที่อยู่ในเกณฑ์ดีจนสามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดได้อย่างต่อเนื่อง
5.ด้านภูมิศาสตร์ “ใกล้ไกลไทยไม่เสียเปรียบ” ในตลาดคู่ค้าสำคัญ โดยจากการศึกษาบ่งชี้ว่าตลาดสหรัฐฯ เป็นตลาดที่ระยะทางของคู่ค้าไม่ส่งผลต่อการนำเข้า ทำให้ไทยไม่เสียเปรียบประเทศที่มีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ใกล้กว่าไทย ในทางตรงกันข้าม ตลาดจีนและญี่ปุ่นเป็นตลาดที่ระยะทางของคู่ค้ามีผลต่อการนำเข้า ยิ่งระยะทางใกล้จะมีความได้เปรียบทางการค้าสูง จุดนี้ทำให้ไทยมีความได้เปรียบทางการแข่งขันจากคู่แข่งอื่นๆ
6. ไทยทำให้เกิดการผูกขาดในตลาดสำคัญและป้องกันการเพิ่มส่วนแบ่งตลาดจากคู่แข่งอื่นๆ โดยในตลาดสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ไทยมีส่วนแบ่งตลาดสูง รวมทั้งลักษณะตลาดเริ่มเข้าสู่การแข่งขันน้อยรายทำให้ประเทศคู่แข่งไทยเจาะตลาดได้ยาก และ 7. ประเทศผู้นำเข้าที่สำคัญของไทยยังคงนำเข้าอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น อย่างที่ทราบกันดีว่าสินค้าส่งออกที่สำคัญส่วนมากจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่เป็นข้อยกเว้นสำหรับการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยง ทำให้การส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการส่งออกไทยในระยะนี้ด้วย
ในปี 2562 การส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงโลกมีมูลค่า 11,511 ล้านเหรียญสหรัฐ และในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาเติบโตถึง 71% ขณะที่ไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 4 ของโลก มีมูลค่าการส่งออก 1,385.1 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีสัดส่วน 9.2% ของการส่งออกโลก ส่วนการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยในช่วง 8 เดือนปี 2563 (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่า 1,303.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 17.3% ขยายตัวต่อเนื่อง 12 เดือนติดต่อกัน โดยส่งออกไปสหรัฐฯ อันดับ 1 เพิ่มขึ้น 34.7% มีสัดส่วน 23.9% ญี่ปุ่นอันดับ 2 เพิ่มขึ้น 8.2% มีสัดส่วน 16.2%