ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ 8 เดือน 15,206.06 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 32.77% ได้อานิสงส์ส่งออกทองคำไปเก็งกำไร หลังราคาตลาดโลกพุ่งสูงสุด 8 ปี ทำให้กลายเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ติดต่อกัน 5 เดือน แต่หากหักออก ส่งออกเหลือ 2,935 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 43.99% เหตุได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำเศรษฐกิจชะลอตัว คนงดใช้จ่าย ลุ้นแนวโน้มฟื้นตัว หลังหลายประเทศผ่อนคลายการเดินทาง
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือจีไอที เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในช่วง 8 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่า 15,206.06 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 32.77% คิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 474,557.95 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32.58% ทำให้อัญมณีและเครื่องประดับขึ้นแท่นเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และคิดเป็นสัดส่วน 9.91% ของการส่งออกสินค้าทั้งหมดของไทย แต่หากหักทองคำซึ่งเป็นสินค้าที่มีความผันผวนออก การส่งออกมีมูลค่า 2,935 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 43.99% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 90,685.12 ล้านบาท ลดลง 44.77%
ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับรวมทองคำเพิ่มขึ้น มาจากการส่งออกทองคำเป็นมูลค่าสูงถึง 12,271.06 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 97.52% คิดเป็นสัดส่วน 80% ของการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ โดยเป็นการเพิ่มขึ้นจากการการส่งออกทองคำไปเก็งกำไรจากส่วนต่างของราคาในจังหวะที่ราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากจะทำสถิติสูงสุดในรอบ 8 ปีแล้วยังมีการทำสถิตินิวไฮต่อเนื่อง โดยวันที่ 6 ส.ค. 2563 ราคาอยู่ที่ 2,067.15 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ เพราะคนได้หันมาซื้อสินทรัพย์ที่ปลอดภัยในช่วงที่สถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีความผันผวนสูง
ส่วนการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับที่หักทองคำออก ลดลง 43.99% เพราะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้การเดินทาง การท่องเที่ยวหยุดชะงัก บางประเทศกลับมาล็อกดาวน์ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัว ขณะที่เศรษฐกิจของคู่ค้าที่สำคัญของไทยก็ได้รับผลกระทบ มีการชะลอตัว ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็นลง
ทั้งนี้ หากดูเป็นรายสินค้าพบว่า ปรับตัวลงทุกรายการ โดยเครื่องประดับเงิน ลด 8.11% เครื่องประดับทอง ลด 49.16% เพชรเจียระไน ลด 43% พลอยเนื้อแข็งเจียระไน ลด 61.15% และพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ลด 52.99% ส่วนตลาดส่งออก ก็ปรับตัวลดลงเกือบทุกตลาด โดยสหภาพยุโรป (อียู) ลด 28.26% สหรัฐฯ ลด 25.80% ฮ่องกง ลด 59.29% ตะวันออกกลาง ลด 43.43% อินเดีย ลด 55.23% อาเซียน ลด 63.20% ญี่ปุ่น ลด 21.51% ประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก ลด 27.89% จีน ลด 5.73% รัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช เพิ่ม 5.29%
นายสุเมธกล่าวว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจของหลายประเทศเริ่มฟื้นตัวจากการบริโภคภายใน หลายประเทศมีแนวโน้มใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม และการใช้นโยบาย Travel Bubble มาเป็นส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทำให้มีการเดินทางเพิ่มขึ้น ทำให้เศรษฐกิจของหลายประเทศมีแนวโน้มที่จะทยอยฟื้นตัวซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงของการระบาดของโควิด-19 ที่อาจทำให้บางประเทศมีการล็อกดาวน์อีก ซึ่งผู้ส่งออกจะพึ่งพาตลาดส่งออกเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องหันมาพึ่งพาตลาดในประเทศ และเพิ่มการใช้ช่องทางออนไลน์ในการจำหน่ายสินค้ามากขึ้นเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และควรจัดโปรโมชันเพื่อเพิ่มยอดขายและกระแสเงินสด