“วีรศักดิ์” เผยยอดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ 4 เดือนปี 63 มูลค่า 8,147.46 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 114.84% ได้รับอานิสงส์ส่งออกทองคำไปเก็งกำไรเพิ่มขึ้นกว่า 350% แต่หากหักออกส่งออกเหลือ 1,774.74 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 25.31% เหตุเจอพิษโควิด-19 ฉุด ทำคนชะลอการซื้อ แนะผู้ประกอบการมุ่งใช้ช่องทางออนไลน์ โซเชียลมีเดียขยายตลาดรับชีวิตวิถีใหม่
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในช่วง 4 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-เม.ย.) มีมูลค่า 8,147.46 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 114.84% คิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 252,714.18 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 111.34% แต่หากหักทองคำ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีความผันผวนออก การส่งออกมีมูลค่า 1,774.74 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 25.31% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 54,218.88 ล้านบาท ลดลง 27.65% เพราะการส่งออกได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้หลายประเทศยังมีการล็อกดาวน์ แม้ว่าบางประเทศจะเริ่มเปิดธุรกิจแล้ว แต่ก็ยังทำให้การค้าขายไม่สะดวก ขณะที่ผู้ซื้อยังชะลอการซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็นจากการได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ จึงส่งผลกระทบต่อการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในภาพรวม
ทั้งนี้ หากดูเฉพาะทองคำมีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 6,372.72 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 350.01% เพราะมีการส่งออกไปทำกำไรจากส่วนต่างของราคา ในจังหวะที่ราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคนส่วนใหญ่ได้หันมาซื้อทองคำเก็บไว้ในฐานะเป็นทรัพย์สินที่ปลอดภัยในช่วงที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะชะลอตัว
ส่วนสินค้าอื่นๆ ส่วนใหญ่ส่งออกลดลง โดยกลุ่มสินค้าสำเร็จรูป เช่น เครื่องประดับเงิน เครื่องประดับทอง เครื่องประดับเทียม และเครื่องประดับแพลทินัม ลดลง 6.41%, 34.1%, 29.09% และ 16.90% ตามลำดับ และกลุ่มสินค้ากึ่งสำเร็จรูป เช่น เพชรเจียระไน พลอยเนื้อแข็งเจียระไน และพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ลดลง 34.77% , 49.11% และ 34.71% ตามลำดับ
สำหรับตลาดส่งออก อาเซียน เพิ่ม 42.53% รัฐเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช เพิ่มขึ้น 46.92% ส่วนสหภาพยุโรป (อียู) ลด 12.28% สหรัฐฯ ลด 3.42% ฮ่องกง ลด 53.58% กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ลด 28.22% อินเดีย ลด 2.34% ญี่ปุ่น ลด 3.11% ประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก ลด 3.60% จีน ลด 50.16% และอื่นๆ ลด 51.51%
นายวีรศักดิ์กล่าวว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างมาก เป็นพฤติกรรมรูปแบบใหม่ที่จะกลายเป็น New Normal จากการกักตัวหรือ work from home ทำให้ผู้คนใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการซื้อสินค้าออนไลน์ ใช้โซเชียลมีเดีย และ Chat App ผู้ประกอบการจึงควรเน้นทำตลาดผ่านสื่อโซเชียลและ Chat app อีกทั้งผู้บริโภคยังคำนึงถึงความปลอดภัยของสุขอนามัยมากขึ้น ฉะนั้น แบรนด์หรือธุรกิจต่างๆ ต้องออกมาสื่อสารมาตรการดูแลความปลอดภัยจากการติดเชื้อไวรัสเพื่อช่วยสร้างความไว้วางใจต่อแบรนด์และร้านค้า