กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเปิดแผนทำงานปี 64 เน้นใช้ FTA รักษาตลาดเดิม เพิ่มตลาดใหม่ เตรียมเจรจารวม 12 กรอบ ทั้งฟื้นเจรจา FTA เปิดเจรจา FTA ใหม่ เร่งรัด FTA คงค้าง และอัปเกรด FTA ที่มีอยู่เดิม เผยจะเดินหน้าเจรจา JTC กับคู่ค้าเป้าหมายอีก 10 ประเทศ ผลักดันตั้งกองทุนเอฟทีเอแบบถาวร ส่วน RCEP ลงนามตามกำหนดเดิม พ.ย.นี้
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงแผนการทำงานด้านการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ปี 2564 ตามข้อสั่งการของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ว่า กรมฯ มีแผนใช้การเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) เพื่อรักษาตลาดเดิม และขยายตลาดใหม่ เพื่อเพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าและบริการของไทยรวม 12 กรอบเจรจา มีทั้งการฟื้นการเจรจา FTA กับประเทศคู่ค้า การเปิดเจรจา FTA ใหม่ๆ การเร่งรัด FTA คงค้าง และการอัปเกรด FTA ที่มีอยู่เดิมให้มีความทันสมัยมากขึ้น
สำหรับการฟื้นการเจรจา FTA จะเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) และไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) ที่ประกอบด้วย สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ ส่วนการเปิดเจรจา FTA ใหม่ ได้เตรียมเจรจาไทย-สหราชอาณาจักร (ยูเค) ไทย-สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (EAEU) ซึ่งประกอบด้วย คาซัคสถาน เบลารุส อาร์เมเนีย คีร์กิซสถาน และรัสเซีย และอาเซียน-แคนาดา ขณะที่ FTA คงค้างจะเร่งรัดการเจรจากับตุรกี ปากีสถาน และศรีลังกา และจะเดินหน้ายกระดับและปรับปรุงความตกลง FTA กรอบอาเซียน ได้แก่ FTA อาเซียน-จีน FTA อาเซียน-อินเดีย FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ และ FTA อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ให้มีการเปิดเสรีมากขึ้นและทันสมัยมากขึ้น
นอกจากนี้ จะมีการประชุมทวิภาคีและประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) กับประเทศคู่ค้า ได้แก่ อาเซียน เช่น กัมพูชา สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย เอเชีย เช่น จีน บังกลาเทศ มัลดีฟส์ และภูฏาน และภูมิภาคอื่นๆ เช่น รัสเซีย สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (EAEU) และสหราชอาณาจักร เป็นต้น เพื่อแก้ไขปัญหาทางการค้า และเพิ่มความร่วมมือทางการค้า ทั้งนี้ หากสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย จะจัดในรูปแบบการประชุมทางไกล
ขณะเดียวกัน จะเสนอรายละเอียดการขอจัดตั้งกองทุน FTA แบบถาวร ต่อคณะทำงานพิจารณาแนวทางกองทุนช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าที่มีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ในปลายปี 2563 เพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์พิจารณาต่อไป
ส่วนความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) สมาชิกได้ยืนยันที่จะลงนามความตกลงในช่วงการประชุมผู้นำ RCEP เดือน พ.ย. 2563 ที่จะจัดประชุมผ่านทางไกลตามกำหนดเดิม โดยวิธีการลงนามทางเวียดนาม ซึ่งเป็นเจ้าภาพกำลังหาวิธีอยู่ อาจจะเป็นการลงนามวิธีใหม่โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ต้องรอดูว่าจะเป็นวิธีการไหน และหลังจากลงนามแล้ว ความตกลงจะมีผลบังคับใช้ก็ต่อเมื่ออาเซียน 6 ประเทศ และคู่เจรจา 4 ประเทศให้สัตยาบัน ซึ่งหลังจากลงนามกรมฯ จะเดินหน้าเผยแพร่ความตกลง ชี้แจงผลประโยชน์ และการรับมือผลกระทบต่อไป