ผู้จัดการรายวัน 360 - เครื่องใช้ไฟฟ้าร้องเฮ รับมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” ส่งผลดี คาดช่วยกระตุ้นกำลังซื้อจับจ่ายได้ดี ชี้เครื่องไฟฟ้าครัวเรือนขนาดเล็กเติบโตดี หลังจาก 9 เดือนแรกตลาดรวมเครื่องใช้ไฟฟ้าร่วงถึง 17% คาดทั้งปีตลาดรวมเหลือแค่ 200,000 ล้านบาท จากปีที่แล้ว 240,000 ล้านบาท
จากกรณีที่ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) มีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการ "ช้อปดีมีคืน" ด้วยการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีภาษี 2563 สำหรับค่าซื้อสินค้าและบริการให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 30,000 บาท กลุ่มเป้าหมายคือ กลุ่มผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กลุ่มผู้ประกอบการประเภทผู้ค้าสินค้าและบริการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และผู้ประกอบการขายหนังสือและสินค้า OTOP
โดยไม่รวมสินค้าเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ยาสูบ สลากกินแบ่งรัฐบาล น้ำมัน ค่าที่พัก และค่าตั๋วเครื่องบิน เริ่มตั้งแต่วันที่ 23 ต.ค.-31 ธ.ค. 63 เพื่อใช้ลดหย่อนภาษีในปีภาษี 2563 ณ เดือน มี.ค. 64 คาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเนื่องจากการดำเนินมาตรการทั้งหมด 55,500 ล้านบาท
ทั้งนี้ หากประชาชนได้ใช้สิทธิโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือโครงการคนละครึ่งแล้วจะไม่สามารถใช้สิทธินี้ได้
นายจักรกฤษณ์ กีรติโชคชัยกุล ผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส บริหารสินค้าเพาเวอร์มอลล์ บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ให้ความเห็นว่า มาตรการนี้น่าจะส่งผลดีในระดับหนึ่ง ซึ่งจากอดีตช่วงมาตรการช้อปช่วยชาติปีแรกๆ ส่งผลให้ผู้บริโภคจับจ่ายมากขึ้นกว่า 30% คราวนี้ก็น่าจะดี เพียงแต่ว่าสถานการณ์ครั้งนี้ต่างกันคือ มีโรคโควิดระบาด กำลังซื้อรวมของตลาดไม่ค่อยดี แต่ก็ดีกว่าที่ไม่มีมาตรการอะไรออกมาเลย
นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด กล่าวให้ความเห็นว่า มาตรการช้อปดีมีคืนที่ภาครัฐบาลจะนำมาใช้นี้คิดว่าจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อของภาพรวมเศรษฐกิจได้ดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ช่วงนี้เป็นจังหวะเดียวกับการออกสินค้าใหม่ๆ หลังจากที่ผ่านมาคนระมัดระวังในการใช้จ่ายเงิน
ขณะที่ภาพรวมของโตชิบา 9 เดือนแรกยังเติบโตได้ดี ทำให้ตั้งเป้าหมายยอดขายปี 63 เติบโต 15-20% เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ เนื่องจากโควิดทำให้คนทำงานที่บ้านและทำอาหารรับประทานเองมากขึ้น ทำให้กลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้อง เช่น คอมพิวเตอร์ โซลูชันระบบทำงานต่างๆ เครื่องครัวขนาดเล็ก ขายได้ดี จนปี 64 มีแผนขยายโรงงานเพิ่มเพื่อรองรับความต้องการดังกล่าว
นายซาโตชิ เมกาตะ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท โซนี่ ไทย จำกัด กล่าวว่า มาตรการนี้ถือเป็นเรื่องที่ดี อย่างน้อยก็ช่วยกระตุ้นการจับจ่ายของผู้บริโภคในภาพรวม ซึ่งตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กน่าจะจำหน่ายได้มากขึ้น
นายเชี่ย เทียน-หลิน รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ชาร์ป ไทย จำกัด กล่าวว่า ถือได้ว่าเป็นมาตรการที่ดี ในการที่จะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายของผู้บริโภคในช่วงสิ้นปีนี้ จะช่วยทำให้ภาพรวมตลาดคึกคักมากขึ้น
ทั้งนี้ ช่วง 9 เดือนแรกปีที่แล้วชาร์ปไทยโต 10% แต่ปีนี้โตแค่ 3-5% โดยกลุ่มที่เติบโตดีคือ เครื่องใช้ไฟฟ้าครัวเรือนขนาดเล็ก กลุ่มโซลูชัน กลุ่มฟอกอากาศ โต 3-5% จึงทำให้ภาพรวมชาร์ปยังดีอยู่
นายจักรกฤษณ์กล่าวถึงภาพรวมตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าช่วง 9 เดือนแรกปี 2563 เพาเวอร์มอลล์ติดลบเล็กน้อยแต่ดีกว่าตลาดรวมที่ติดลบมากถึง 17% เพราะผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งหลังจากที่ปลดล็อกดาวน์แล้วในช่วงแรกตลาดคึกคักมากขึ้นเพราะอั้นการซื้อมานาน 3 เดือน แต่หลังจากนี้ก็เริ่มปกติ ซึ่งสินค้าที่ขายดีช่วงนี้คือ กลุ่มสมาร์ทคิตเชน เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนขนาดเล็ก เช่น หม้อทอด เครื่องปั่น เครื่องอบ เป็นต้น ซึ่งสังเกตได้ว่าช่วงก่อนนี้ 5 ปีที่แล้วตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนขนาดเล็กมีสัดส่วนตลาดเพียง 7% เท่านั้น แต่ขณะนี้เติบโตมากมีสัดส่วนเพิ่มเป็น 20% แล้ว เนื่องจากในช่วงโควิดระบาดหนัก ผู้คนทำงานที่บ้านหรือเวิร์กฟอร์มโฮมมากขึ้น มีการทำอาหารรับประทานเองที่บ้านมากขึ้น ทำให้กลุ่มนี้เติบโตดี
อย่างไรก็ตาม คาดว่าทั้งปี 2563 นี้ตลาดรวมเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีประมาณ 240,000 ล้านบาทในปี2562 คาดว่าปี2563นี้จะตกลงประมาณ 10% เหลือเพียง 200,000 ล้านบาทเท่านั้น โดยสิ้นเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 150,000 ล้านบาท
ล่าสุดจัดงาน เพาเวอร์ มอลล์ อิเลคโทรนิก้า โชว์เคส ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม-1 พฤศจิกายน 2563 ที่เพาเวอร์มอลล์ทุกสาขา เพื่อเป็นการกระตุ้นตลาดรวม จะมีสินค้าใหม่สินค้านวัตกรรมมากมาย ด้วยงบจัดงานกว่า 120 ล้านบาท คาดหวังยอดขายรวมในงาน 1,000 ล้านบาท มากกว่าปีที่แล้วทำได้ประมาณ 800 ล้านบาทช่วงการจัดงาน