xs
xsm
sm
md
lg

หนี้ครัวเรือนพุ่ง!! คลังเตรียมของขวัญปีใหม่กระตุ้นเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หนี้ครัวเรือนเข้าขั้นสาหัส สิ้นปีมีสิทธิแตะ 90ของจีดีพี เหตุคนรวยสะสมบ้าน คนจนต้องกู้เป็นทุนต่อชีวิต ประเด็นมีงานทำ-มีรายได้เป็นตัวชี้ขาด ขณะที่ภาครัฐดันมาตรการกระตุ้นจับจ่ายหวังดันเศรษฐกิจฟื้น เตรียมมอบของขวัญปีใหม่ให้คนไทยนักเศรษฐศาสตร์ประเมินรัฐเลือกแนวทางกระตุ้นใช้จ่าย ให้เงินหมุนเศรษฐกิจวนกลับไปที่เพิ่มการจ้างงาน

การแพร่ระบาดของ Covid-19 โรคอุบัติใหม่ แพร่กระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ไม่มีประเทศใดเตรียมตัวรับมือได้ทัน ส่งผลให้วิถีชีวิตของผู้คนทั้งโลกต้องปรับตัวรองรับสถานการณ์ทั้งการป้องกันตนเองจากการแพร่ระบาด ไปจนถึงการแก้ปัญหาชีวิตอันเนื่องมาจากต้องว่างงานฉับพลัน

ทุกประเทศทั่วโลกต้องเร่งแก้ปัญหาภาระหนี้สินต่างๆ ของประชาชนที่เกิดขึ้นจากผลกระทบ Covid-19 โดยไม่ทันตั้งตัว ทำให้รายได้ของพวกเขาลดลงไป ทั้งจากเรื่องการจ้างงาน การค้าขายหรือการส่งออกที่ต้องหยุดทุกกิจกรรมเพื่อควบคุมโรค

สำหรับคนที่มีภาระหนี้สินอยู่แล้ว เมื่อเจอกับสถานการณ์นี้อาจได้รับผลกระทบที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด รายได้ยังคงมีอยู่หรือไม่ แต่ภาครัฐโดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้ร่วมมือกับสถาบันการเงินออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มต่างๆ ทั้งหนี้ภาคบุคคล หนี้ภาคธุรกิจ เพื่อให้ฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้

การแก้ปัญหาหนี้สินแต่ละประเภทมีความแตกต่างกันไป ทั้งลดดอกเบี้ย ยืดเวลาการชำระหนี้ หรือปรับโครงสร้างหนี้ บางรายอาจต้องเติมสภาพคล่องเข้าไปช่วย เพื่อให้การดำเนินชีวิตเดินหน้าต่อไปได้

เมื่อทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ไม่มีใครเตรียมการไว้ล่วงหน้า จึงส่งผลให้หนี้ภาคครัวเรือนของคนไทยเพิ่มสูงขึ้น และมีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นได้อีกอย่างต่อเนื่องจากสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจยังไม่คลี่คลาย

คาดสิ้นปีแตะ 90%

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยออกรายงาน “หนี้ครัวเรือน 2Q/63 เพิ่มแตะ 83.8% ต่อจีดีพี ครัวเรือนก่อหนี้เพิ่ม สวนทางเศรษฐกิจติดลบ”  

หนี้ครัวเรือนกลับมาขยับขึ้นในไตรมาส 2/2563 สวนทางกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หยุดชะงักลงในหลายภาคส่วน ในช่วงที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยในไตรมาส 2/2563 เพิ่มขึ้นไปที่ 83.8% เมื่อเทียบกับจีดีพี ซึ่งนับเป็นระดับสูงที่สุดในรอบ 18 ปี และสูงขึ้นต่อเนื่องจากในไตรมาส 1/2563 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 80.1% ต่อจีดีพี และเมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น 9.22 หมื่นล้านบาทในไตรมาส 2/2563 นำโดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจและธนาคารพาณิชย์ เร่งขึ้นจากที่เพิ่มเพียง 1.2 หมื่นล้านบาทในไตรมาส 1/2563

หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 2/2563 สะท้อนสถานการณ์ที่แตกต่างกันของกลุ่มลูกหนี้รายย่อย 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรก คือ กลุ่มครัวเรือนที่ยังพอมีกำลังซื้อ (รายได้ไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบัน และยังมีความสามารถในการชำระหนี้ สอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน) มีการก่อหนี้ก้อนใหญ่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัย สะท้อนจากสินเชื่อบ้านปล่อยใหม่ที่เพิ่มขึ้น ราว 1.42 แสนล้านบาทในไตรมาสที่ 2/2563 (สูงกว่ายอดปล่อยใหม่ในไตรมาสแรกที่ 1.38 แสนล้านบาท) ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ผลักดันแคมเปญออกมาเพื่อจูงใจการตัดสินใจของลูกค้า

ส่วนกลุ่มที่สอง คือ กลุ่มครัวเรือนที่เผชิญปัญหาการขาดสภาพคล่องจากผลกระทบของปัญหาเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งสะท้อนผ่านข้อมูลลูกหนี้รายย่อยที่รับความช่วยเหลือจากสถาบันการเงิน

โดยเฉพาะมาตรการระยะแรกที่มีการพักชำระหนี้และลดภาระผ่อนต่อเดือน ซึ่งจำนวนบัญชีลูกหนี้รายย่อยที่เข้าโครงการระยะแรกมีถึง 11.5 ล้านบัญชี (33% ของบัญชีลูกหนี้รายย่อยทั้งหมด) คิดเป็นภาระหนี้ประมาณ 3.8 ล้านล้านบาท (28% ของยอดคงค้างหนี้ครัวเรือน) นอกจากนี้ ปัญหาการขาดสภาพคล่องยังทำให้ครัวเรือนบางส่วนจำเป็นต้องก่อหนี้เพิ่มขึ้นเพื่อการดำรงชีพและสำหรับรองรับรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันด้วยเช่นกัน

สำหรับแนวโน้มหนี้ครัวเรือนของไทยในปี 2563 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมุมมองเดิมว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนจะยังคงเป็นหนึ่งในมาตรวัดที่สะท้อนความเปราะบางเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย โดยหนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มขยับขึ้นมาอยู่ที่กรอบ 88-90% ต่อจีดีพีในปี 2563 จากระดับ 83.8% ต่อจีดีพีในไตรมาส 2/2563 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มหดตัวลงในครึ่งปีหลัง

ท้ายที่สุดแล้ว ประเด็นการมีงานทำ และรายได้ของครัวเรือนจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดคุณภาพของหนี้ครัวเรือน โดยเฉพาะความสามารถในการชำระหนี้


ขุนคลังกระตุ้นเศรษฐกิจต่อ

ขณะที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ ได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง พิจารณามาตรการของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน กระตุ้นกำลังซื้อปลายปี ถือเป็นนโยบายระยะเร่งด่วน หลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายรองรับการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ

สำหรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่กำลังสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ ขณะนี้กำลังพิจารณาแนวทางช่วยเหลือ ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคารเจ้าหนี้ ขณะที่ลูกหนี้เองก็จะต้องปรับโครงสร้างธุรกิจควบคู่กันไปด้วย

นายอาคม ย้ำถึงนโยบายการคลังที่จะเน้นการประสานนโยบายและมาตรการภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังอย่างยั่งยืน (Fiscal Sustainability)

ในระยะสั้น จะให้ความสำคัญต่อการบริหารภาพรวมเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวโดยเร็ว ได้แก่ การขับเคลื่อนมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบตามมติของคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากการระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนา 2019 โดยเฉพาะเรื่องเร่งด่วน คือการกระตุ้นการบริโภค และการลงทุนภายในประเทศ รวมถึงการแก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่องของภาคธุรกิจต่างๆ

แก้ไขปัญหาสภาพคล่องของทั้งภาคธุรกิจเอกชนและภาคประชาชน โดยเฉพาะกลุ่ม SME เช่น มาตรการ Soft loan การเร่งรัดการปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงมาตรการการพักชำระหนี้ในระยะต่อไป

เพิ่มกำลังซื้อของประชาชนในกลุ่มต่างๆ ผ่านมาตรการกระตุ้นการบริโภคที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไปแล้ว เช่น การให้เงินช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโครงการคนละครึ่ง ควรเร่งรัดให้เป็นไปตามเป้าหมาย เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ภายใต้กรอบระยะเวลาที่กำหนด

มาตรการรองรับปัญหาการว่างงานอันเกิดจากวิกฤติโควิด-19 โดยต้องพยายามให้เอกชนรักษาการจ้างงานขององค์กรไว้ให้ได้มากที่สุด โดยขณะนี้รัฐบาลได้อนุมัติโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและเอกชนไว้แล้ว

สร้างความเข้มแข็งฐานะการคลังอย่างยั่งยืน หารายได้เพิ่มจากรายได้ที่ไม่ใช่ภาษี (Non-tax revenue) จากทรัพย์สินของรัฐ รายได้จากรัฐวิสาหกิจ รวมถึงเงินนอกงบประมาณต่างๆ ที่ไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้ ควรต้องนำกลับมาช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของรัฐบาล

เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณในปี 2564 ทั้งงบประมาณรายจ่ายและงบลงทุนโดยเฉพาะงบการจัดประชุมสัมมนาในต่างจังหวัดซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคได้ รวมถึงการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบฟื้นฟูเศรษฐกิจภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว เพื่อเร่งนำเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็วที่สุด

ส่งเสริมจับจ่าย

นักเศรษฐศาสตร์มหภาค กล่าวว่า สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลหลังจากสถานการณ์ Covid-19 เริ่มควบคุมได้ ได้มีโครงการกระตุ้นเดินทางท่องเที่ยวทั้งเราเที่ยวด้วยกัน เราไปเที่ยวกัน เที่ยวปันสุข ช่วงกรกฎาคม-สิ้นเดือนตุลาคม 2563 โดยรัฐสนับสนุนค่าที่พัก 40% ไม่เกิน 3 พันบาท รวมทั้งตั๋วเครื่องบิน แต่การตอบรับไม่คึกคักนักจึงขยายระยะเวลาออกไปจนถึงต้นปี 2564

มาตรการ ‘คนละครึ่ง’ ที่จะเริ่มในเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2563 กำหนดวงเงินคนละไม่เกิน 3,000 บาท โดยรัฐจะจ่ายให้ 50% ของยอดใช้จ่าย ซึ่งไม่เกิน 3,000 บาท เป็นจำนวน 10 ล้านคน และยังมีเงื่อนไขอื่นๆ ที่แตกต่างไปจากมาตรการกระตุ้นกาลังซื้ออื่นๆ ที่ออกมาก่อนหน้า เช่น ชิมช้อปใช้ คือ มีการจำกัดวงเงินการใช้จ่ายต่อวันไม่เกินวันละ 150 บาท

มาตรการดังกล่าวครอบคลุมเฉพาะผู้ประกอบการค้าปลีกขนาดเล็ก เช่น ร้านค้าปลีกขนาดเล็ก โชห่วย แผงลอยเท่านั้น จึงน่าจะเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการค้าปลีกกลุ่มดังกล่าวมีโอกาสสร้างยอดขายเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2563

มาตรการล่าสุดคือ “ช้อปดีมีคืน” เพื่อกระตุ้นการบริโภค โดยสามารถลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท กำหนดให้ต้องเป็นการใช้จ่ายในช่วง 23 ตุลาคม-31 ธันวาคม 2563 คิดเป็นระยะเวลา 70 วัน โดยครอบคลุมการจับจ่ายใช้สอยในสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และผู้ประกอบการขายหนังสือและสินค้า OTOP โดยไม่รวมสินค้าเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ยาสูบ สลากกินแบ่งรัฐบาล น้ำมัน ค่าที่พัก และค่าตั๋วเครื่องบิน ประชาชนได้ใช้สิทธิโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือโครงการคนละครึ่งแล้วจะไม่สามารถใช้สิทธินี้ได้


เติมเงิน-กระตุ้นเศรษฐกิจ

จะเห็นได้ว่ามาตรการของรัฐบาลทั้งส่งเสริมให้ออกเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ มาตรการคนละครึ่งจนถึงช้อปดีมีคืนนั้น มุ่งเน้นไปในด้านให้ประชาชนกล้าจับจ่ายใช้สอย เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจด้านท่องเที่ยว โรงแรมที่พัก รวมถึงร้านอาหารรอบพื้นที่ท่องเที่ยว เช่นเดียวกับมาตรการคนละครึ่ง สนับสนุนให้เกิดการจับจ่ายกับร้านค้าขนาดเล็ก ส่วนช้อปดีมีคืนมุ่งไปที่คนกลุ่มที่พอมีกำลังทรัพย์ไม่ได้รับผลกระทบเรื่องรายได้จาก Covid-19 กลุ่มนี้น่าจะทำให้ห้างสรรพสินค้าได้รับผลบวกไป

การกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยนั้น ภาครัฐได้ 3 วิธีการคือ ใช้เงินรัฐบาลอัดฉีดลงไปทั้งเงินช่วยเหลือรายละ 5 พันบาท เป็นเวลา 3 เดือน หรือการเติมเงินเข้าไปที่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอีก 500 บาท เพื่อใช้แก้ปัญหาการดำรงชีพ อีกวิธีการหนึ่งคือการให้ประชาชนออกส่วนหนึ่ง รัฐออกส่วนหนึ่ง จูงใจให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ช่วยร้านค้าขนาดเล็กให้สามารถอยู่รอดต่อไปได้

วิธีการที่ 3 คือ รัฐใช้เงินประชาชนกลุ่มที่มีกำลัง โดยใช้แนวทางด้านภาษีมาเป็นตัวจูงใจให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ภาครัฐอาจสูญเสียรายได้จากภาษีเงินได้ลงไปบ้าง แต่จะได้กลับมาในรูปของภาษีมูลค่าเพิ่มเข้ามาแทน

ด้านหนึ่งอาจมองว่าเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนใช้จ่าย แต่การใช้จ่ายเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการช่วยฟื้นเศรษฐกิจภายในประเทศ เมื่อกิจการต่างๆ เริ่มดีขึ้นโอกาสในการจ้างงานใหม่ย่อมมีมากขึ้น

ขณะที่ฝั่งของการจ้างงานนั้น แม้รัฐบาลจะร่วมมือกับภาคเอกชน เพิ่มการจ้างงานด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งการสนับสนุนที่ 7,500 บาทต่อเดือนในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่เรื่องนี้ต้องใช้เวลากว่าจะเข้าที่เข้าทาง ดังนั้น การสนับสนุนให้คนที่พอมีกำลังซื้อเข้ามามีส่วนร่วมฟื้นเศรษฐกิจ น่าจะเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ช่วยฟื้นเศรษฐกิจ

ขณะที่หนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นนั้น หากมองเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อยหรือผู้ที่ประสบปัญหาด้านรายได้จาก Covid-19 การก่อหนี้ของพวกเขาในระยะนี้เป็นเพียงการก่อหนี้เพื่อประคับประคองชีวิตให้เดินหน้าต่อไปได้เป็นหลัก แต่การจะให้หนี้ภาคครัวเรือนลดลงนั้นต้องใช้เวลาอีกนาน ขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจด้วย หากเศรษฐกิจดีขึ้น การจ้างงานมีมากขึ้น สภาพคล่องในระบบดีขึ้น และรัฐควบคุมเรื่องการก่อหนี้เพิ่ม ย่อมส่งผลให้หนี้ภาคครัวเรือนลดลงได้





กำลังโหลดความคิดเห็น