กระทรวงการคลัง เสนอมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายช่วง 3 เดือนสุดท้ายปี 63 ต่อ ศบศ.พรุ่งนี้ นำ “ชิมช้อปใช้” มาปรับรูปแบบ โดยอาจให้ประชาชนร่วมจ่าย พร้อมทั้ง “ช้อปช่วยชาติ” โดยอาจให้เป็นการเงินคืน หรือลดหย่อนภาษี
วันนี้ (6 ต.ค.) นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังจะเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วนให้ที่ประชุมคณะกรรมการศูนย์บริหารเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 หรือ ศบศ. พิจารณาในวันที่ 7 ต.ค.นี้ โดยจะมี 2 มาตรการ โดยนำโครงการ “ชิมช้อปใช้” และ “ช้อปช่วยชาติ” มาปรับรูปแบบให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2563 (ต.ค.-ธ.ค.) เน้นกลุ่มเป้าหมายไปยังคนที่มีกำลังซื้อ และกลุ่มผู้เสียภาษีให้ออกมาใช้จ่ายมากขึ้น
ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวอีกว่า “ชิมช้อปใช้” ในรอบนี้อาจจะเป็นการให้ประชาชนร่วมจ่าย (Co-Pay) ไม่ใช่รัฐให้เงินฝ่ายเดียวเหมือนที่ผ่านมา ขณะที่ “ช้อปช่วยชาติ” อาจจะให้นำค่าใช้จ่ายไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้ หรือคืนเป็นเงินสด (Cash Back) ซึ่งผลที่จะออกมาเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นให้แรงจูงใจจากมาตรการภาษี หรือมาตรการทางการเงิน ส่วนวงเงินที่ใช้ หรืออัตราลดหย่อนภาษีต้องรอสรุปจาก ศบศ.อีกครั้ง ซึ่งหากทั้ง 2 มาตรการผ่านการพิจารณาของ ศบศ. และผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ก็จะสามารถดำเนินโครงการได้ทันที
ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์โกลเบล็ก ระบุว่า โครงการ “ชิมช้อปใช้-ช้อปช่วยชาติ” ที่รัฐบาลจะนำกลับมากระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน ถือเป็นปัจจัยบวกทำให้การบริโภคในประเทศคึกคักขึ้น และเมื่อรวมกับปัจจัยเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist VISA (STV) จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยปลายปี 2563 ปรับตัวดีขึ้นชัดเจน ซึ่งจะช่วยพยุงการเติบโตของจีดีพีทั้งปีให้ติดลบน้อยลง